วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightหวั่น!ชุมนุมการเมืองฉุด''ท่องเที่ยว''สะดุด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หวั่น!ชุมนุมการเมืองฉุด”ท่องเที่ยว”สะดุด

“นายกสมาคมโรงแรมไทย” วิตกการชุมนุมทางการเมือง-ตั้งรัฐบาลล่าช้า กระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว วอนทุกฝ่ายเคารพกฏหมายใช้สิทธิ์ชุมนุมโดยสงบ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องการถือหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติว่า ภาคเอกชนต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด และไม่อยากให้มีความรุนแรง เพราะยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลช้าความเสียหายจะตกอยู่ที่ภาคธุรกิจ เพราะหลังจากเลือกตั้งมาแล้ว แม้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา แต่ธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเงียบ เนื่องจากภาคธุรกิจที่รับงานจากภาครัฐหยุดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดประชุมและสัมมนา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงจะยิ่งส่งผลไม่ดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวใดที่อยากเดินทางมาแล้วต้องมาหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัย และสมัยนี้มีโซเซียล มีเดีย หากเกิดการชุมนุมแล้วมีการถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอออกไป ทำให้มีภาพข่าวออกไปนอกประเทศรวดเร็วและเป็นเรื่องที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติกังวลมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทำให้การได้นายกรัฐมนตรี และครม.ชุดใหม่ล่าช้า ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆที่จะเข้ามาจากต่างประเทศเพราะนักลงทุนจะต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภาว่าจะบริหารประเทศในทิศทางใด

นอกจากนั้นมีผลต่องบประมาณที่ยังไม่ออกมา โดยเฉพาะงบลงทุน เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติงบประมาณในส่วนนี้ได้ โดยการทำงานของรัฐบาลรักษาการนั้นยังทำงานอยู่ตามกฎหมายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่แต่หากต้องขออนุมัติอะไรต้องส่งเรื่องไปยัง กกต.

ทั้งนี้เห็นว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองบานปลายจนเกิดการชุมนุมจะกระทบบรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ ลำบากขึ้น และหากมีการชุมนุมก็คงต้องขอให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายและอยู่ในกรอบของกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมและการใช้สิทธิ์การชุมนุมโดยสงบ ตามที่กฎหมายกำหนด

โดยขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ยังไม่ได้มีการนัดหมายการประชุมเพื่อประเมินผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยแต่จะมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนพร้อมจะทำงานกับรัฐบาลใหม่ทุกรัฐบาลหากมีการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุน ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีการทำงานกับหน่วยงานราชการ และข้าราชการประจำเพื่อขับเคลื่อนประเด็นและการแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน 

นายพจน์ ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า กกร.ประเมินว่าภาคการส่งออกในปีนี้ไม่สดใสโดยการส่งออกของไทยดีที่สุดคือขยายตัวได้ 0% แต่อาจจะติดลบได้ เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ขณะที่ประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อในหลายประเทศยังกดดันเศรษฐกิจ

ดังนั้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ดีในขณะนี้คือภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 25-30 ล้านคน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์ในหลายส่วน และรายได้จากการท่องเที่ยวสามารถกระจายไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ค่อนข้างมาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. และ กลุ่มนักลงทุน กำลังจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยคาดหวังให้การ “โหวตเลือกนายกฯ” เป็นไปด้วยความราบรื่นไร้ปัญหา เหมือนการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร จะไม่เห็นการประท้วง หรือสถานการณ์รุนแรงจนกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังเข้าสู่ไฮซีซัน เพราะเศรษฐกิจไทยเวลานี้ต้องอาศัยการท่องเที่ยวมาขับเคลื่อนแทนการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 2% หรือไม่เติบโต 

ทั้งนี้ไม่ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น มองว่า ภาคเอกชนคาดหวังแค่อยากให้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะเอกชนสามารถทำงานร่วมกับพรรคใดก็ได้ และคาดหวังจะให้จัดตั้งรัฐบาลตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพราะมีเรื่องเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่ต้องรอรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อน โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ


 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img