สศค. เผยการจัดเก็บรายได้รัฐช่วง 9 เดือนทะลุ 1.95 ล้านล้านบาท กรมสรรพากรแชมป์สูงสุด ขณะที่กรมสรรพสามิตน้อยสุด
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-มิถุนายน 2566 ) รัฐบาลจัดเก็บราย ได้สุทธิ จำนวน 1,956,492 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 136,613 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2
โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่
-กรมสรรพากร โดยเฉพาะจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
-ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษที่ไม่ได้อยู่ในประมาณการ เช่น การนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน รายได้จากสัมปทาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล และเงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืน เป็นต้น
-กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ โดยผลของค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ยังต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่น และกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 80,533 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,957,045 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,565,504 ล้านบาท
โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 435,243 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 352,814 ล้านบาท