“พาณิชย์” เผยตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย.มูลค่าแตะ 24,826 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.4% ท่ามกลางความไม่แน่นอนเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ-ยุโรป-อาเซียน
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออก เดือนมิ.ย.66 มีมูลค่า 24,826 ล้านดอลลาร์ หรือ -6.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาด -7.3 ถึง -9.3% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,768 ล้านดอลลาร์ -10.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนมิ.ย.66 ไทยเกินดุลการค้า 57.7 ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.66) มีมูลค่า 141,170 ล้านดอลลาร์ -5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 147,477 ล้านดอลลาร์ -3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก ไทยขาดดุลการค้า 6,307 ล้านดอลลาร์
แม้อัตราการส่งออกในเดือนมิ.ย.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จะยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อน แต่หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าแล้ว จะพบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น และถือว่าการส่งออกของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
“ไม่น่าตกใจ แม้ส่งออกจะยังติดลบ แต่เราลบน้อยกว่าประเทศอื่น อย่าดูแค่ตัวเลขติดลบ เพราะมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 6 เดือน อยู่ที่ 25,300 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าในช่วงก่อนโควิด ซึ่งอยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ สาเหตุที่ส่งออกเดือนมิ.ย.ติดลบ 6.4% เพราะเดือนนี้เมื่อปีก่อน ฐานสูงที่ 26,521 ล้านดอลลาร์ อยากให้ดูในเชิงมูลค่ามากกว่า เดือนนี้ทำได้ 24,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าน่าพอใจในการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งหากเทียบประเทศอื่นๆ แล้วติดลบมากเรา เรายังอาการน้อยกว่า”
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกของไทย คือ 1.ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงเติบโต 2.การได้รับอานิสงส์จากการกระจายแหล่งนำเข้าของคู่ค้า เพื่อทดแทนแหล่งซื้อเดิมที่ประสบปัญหาด้านผลผลิต และ 3. การเติบโตของเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตของการท่องเที่ยว และปัญหาวัตถุดิบที่คลี่คลายลง ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ คือ ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
สำหรับการส่งออกในเดือนมิ.ย. เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้า พบว่า กุล่มสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,567 ล้านดอลลาร์ หดตัว 7.4% โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,966 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.2% โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 19,316 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.6% โดยเป็นการกลับมาหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว
ส่วนภาพรวมตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังหดตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดหลักกลับมาหดตัว หลังจากขยายตัวในเดือนก่อน เช่น ตลาดสหรัฐฯ หดตัว 4.8% ตลาดสหภาพยุโรป หัวตัว 18% และตลาดอาเซียน (5) หดตัว 9% อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง
ในขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา
นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลก อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกเร่งดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่เป้าส่งออกในปีนี้ที่ 1-2% ซึ่งเป็นเป้าในการทำงานนั้น แม้ยอมรับว่าอาจจะทำได้ยาก แต่ก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่