เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังดอลลาร์แข็ง-นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในช่วงจังหวะย่อตัว จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯคืนนี้หากสูงกว่าคาดหนุนเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่บรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อหรือทรงตัวที่ระดับเดิมต่อได้ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงและหากผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะดังกล่าว โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้เล่นในตลาด อาทิ ผู้ส่งออก ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้เล่นต่างชาติที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทในระยะกลาง-ระยะยาว ก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB
นอกจากนี้ในวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังอยู่ในภาวะ wait and see ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทว่าควรระวังในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งประเมินว่า ตลาดการเงินอาจผันผวนสูงได้
โดยหากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ (ต้องเห็นโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อ สูงกว่า 40%) ในกรณีดังกล่าว เราคาดว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ (คาดว่าราคาทองคำอาจปรับตัวลดลง) ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อออกมาตามคาด หรือ ต่ำกว่าคาด เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าหลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นแรงของราคาทองคำ
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.85-35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าทยอยขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่เกี่ยวกับธีม AI (Nvidia -4.7%, AMD -2.4%, Alphabet -1.3%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -1.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.70% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +1.7%) หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.43% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Total Energies +3.4%, BP +2.6%) ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด
ขณะที่ตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.00% (กรอบ 3.98%-4.04%) ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับสูงกว่า 4.00% ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ ในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น และเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว
ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดการเงินผันหวน ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัว sideway ไร้ทิศทางที่ชัดเจน แต่จังหวะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลง ใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งประเมินว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ (ตลาดจะรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI จะอยู่ที่ระดับ 3.3% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้น +0.2%m/m) ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามแรงหนุนของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI มีแนวโน้มชะลอลงและอาจทรงตัวใกล้ระดับ 3.0%-3.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้
นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ระดับ 4.8% และมีแนวโน้มชะลอลง ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกมาตามคาด ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงมองว่า เฟดจะยังไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนกันยายน (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ ราว 30%)
ส่วนไทยยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น