พาณิชย์เผยส่งออกเดือนก.ค.ติดลบ 6.2% ส่งผล 7 เดือนติดลบ 5.5% หลังเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว คาดทั้งปีคงเป้าไว้ที่ 1-2%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า มีมูลค่า 22,143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 6.2% นำเข้ามีมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 11.1% ขาดดุลการค้า 1,978 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกลดต่ำลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องชะลอลงอย่างมาก ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายภูมิภาค และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว อีกทั้งจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกฟื้นตัวช้าลงจากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวจากการขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจ
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 9.6% (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัว 7.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 11.8%
อย่างไรก็ดี จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านอาหารของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และสุกรสด แช่เย็น แช่แข็ง
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีสัญญาณที่ดีจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักร ยานยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางรถยนต์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น
สำหรับตัวเลขการส่งออกไทย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 5.5% การนำเข้ามีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐติดลบ 4.7 % ขาดดุลการค้า 8,285.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญยังมีความไม่แน่นอน โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรปจะหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดรองส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีเช่น ทวีปออสเตรเลีย 2.4% ตะวันออกกลาง 8.2% แอฟริกา 3.1% และ ลาตินอเมริกา 14.8%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การผลิตและการบริโภคชะลอลง
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และความผันผวนของค่าเงิน แต่คาดว่าฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี ภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และอานิสงส์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวจากไทยทดแทนตลาดจีนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยหลายประเทศเพิ่มการนำเข้าเพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเส้นทางใหม่ผ่าน รถไฟไทย-ลาว-จีน จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดทั้งปีส่งออกโต 1-2%