วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightจับตา!ครม.เศรษฐานัดแรกอัด''นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ''
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา!ครม.เศรษฐานัดแรกอัด”นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ”

“เศรษฐา” ชงครม.นัดแรกเติมเงินกระเป๋าดิจิทัล ลดราคาพลังงาน อัดงบ 4.5 หมื่นล้าน หนุนพักหนี้เกษตรและกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง พร้อมดันวีซ่าฟรีรับท่องเที่ยวจีน สำนักงบฯ นัดหารือ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจสรุปงบประมาณให้จบใน ก.ย.นี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วาระสำคัญในด้านเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่การประชุม ครม.ในครั้งนี้มีหลายเรื่อง ได้แก่ 1.โครงการเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มต้นเดือนก.พ.2567 และกระทรวงการคลังนำเข้า ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการเพื่อให้เดินหน้าโครงการได้ทันที จากนั้นเสนอรายละเอียดต่อ ครม.พิจารณาอีกครั้ง 

สำหรับแหล่งเงิน 5.6 แสนล้านบาท ที่จะใช้ดำเนินการเบื้องต้น ประกอบด้วยแหล่งเงินภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าได้รับเพิ่มเติมจากมาตรการเงินดิจิทัล 1 แสนล้านบาท การลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพจากงบประมาณส่วนอื่น 1.1 แสนล้านบาท การดึงงบประมาณด้านสวัสดิการอื่นที่ซ้ำซ้อนมาใช้จ่ายในโครงการนี้แทน 9 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 บังคับใช้ไม่ทันในเดือน ก.พ.2567 ที่จะเริ่มโครงการจะดำเนินโครงการก่อนโดยใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Measures) ซึ่งจะยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ไปก่อนแล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยภายหลัง โดยจะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขยายเพดานจาก 32% เป็น 35% ของสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ทั้งนี้คาดการณ์ว่านโยบายเงินดิจิทัลจะทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัวได้ 0.8-1.0%

2.การลดราคาพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอลดราคาน้ำมันดีเซล โดยสูงสุดอาจลดลงลิตรละ 2 บาท เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงเหลือลิตรละ 30 บาท โดยจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเข้ามาดูแล

ส่วนมาตรการการลดราคาค่าไฟฟ้า ครม.จะลดค่าไฟฟ้าลงอีก 20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศอัตราค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี (ก.ย.-ธ.ค.) ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 4.25 บาทต่อหน่วย โดยใช้วิธีชะลอการจ่ายคืนหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้นำเงินส่วนนี้มาลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

โดยการลดค่าไฟฟ้าลง 20 สตางค์ต่อหน่วยจะเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายให้ภาคธุรกิจและครัวเรือน 1.24 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ภาคอุตสาหกรรม 5,500 ล้านบาท ภาคครัวเรือน 3,500 ล้านบาท และภาคบริการ 3,400 ล้านบาท และช่วยเพิ่มกำไรให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.13%

3.มาตรการการพักหนี้เกษตรกร รวมทั้งผู้ที่ประสบภัยจากโควิด-19 โดยจะพักหนี้สินเกษตรกรทั้งต้นและดอกเบี้ย 3 ปี และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินวงเงินที่ใช้ในการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะให้เกษตรกรและประชาชนที่เดือดร้อนไปขึ้นทะเบียนการพักหนี้


นายเศรษฐา กล่าวระหว่างการชี้แจงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 ว่า มาตรการการพักหนี้เกษตรที่จะเสนอ ครม.ให้ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยจะพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะทำพร้อมการสร้างรายได้ที่ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง ตามการวิเคราะห์ธาตุดิน การทำเกษตรแม่นยำ ช่วยลดรายได้ในการใช้ปุ๋ย ทำควบคู่กับการพัฒนาความรู้ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมนโยบายคู่ขนานการพักหนี้เกษตรกร โดยจะมีโครงการคัดกรองเกษตรกรเข้าโครงการช่วยเหลือบริหารจัดการหนี้ที่ชัดเชน ปลูกพืชมูลค่าสูง และการเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยจีดีพีภาคเกษตรต้องเพิ่มขึ้นในระยะ 4 ปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการเปิดประตูสินค้าเกษตรผ่านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์ช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรสูง และทำให้ไทยกลับมาเป็นครัวของโลก ควบคู่กับกลไกการแปรรูปสินค้าเกษตร

4.มาตรการเตรียมพร้อมรับมือเอลนีโญ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้เตรียมแผนรองรับภาวะเอลนีโญ และแผนการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นนาน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ครม.ด้วย 

5.มาตรการวีซ่าฟรี (นักท่องเที่ยวไม่ต้องขอวีซ่า) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น โดยจะให้นักท่องเที่ยวจีนไม่ต้องขอวีซ่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้เข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น โดยจะเริ่มต้นได้เร็วที่สุดภายในเดือน ก.ย.2566 และสิ้นสุดเดือน ก.พ.2567 

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วันที่ 13 ก.ย.2566 สำนักงบประมาณจะนำปฏิทินระยะเวลาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เสนอ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบเป็นกรอบเวลาในการเริ่มทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567

พร้อมทั้งเสนอการปรับยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณ โดยปรับเหลือ 10 แผนงาน ตามความเหมาะสมของงบประมาณปี 2567 และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วจะประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ภายในเดือน ก.ย.2566 เพื่อวางกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่

สำหรับประเด็นการจัดทำงบประมาณร่ายจ่ายปี 2567 ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลงเพิ่ม 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้โครงการเงินดิจิทัลหรือไม่ นายเฉลิมพล ตอบว่า จะมีความชัดเจนหลังการประชุม ครม.ครั้งนี้ เพราะกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ

นอกจากนี้ จะมีการเสนอ ครม.พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงและข้าราชการการเมืองหลายตำแหน่ง เช่น กระทรวงการคลัง เสนอตั้งนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เป็นปลัดกระทรวงการคลัง แทนนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ลาออกจากปลัดกระทรวงการคลังก่อนเกษียณอายุราชการเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

ส่วนผู้บริหารกระทรวงการคลังตำแหน่งอื่นจะเสนอ ครม.สัปดาห์ต่อๆไป โดยปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่จะพิจารณาเสนอฝ่ายนโยบายก่อนเข้า ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นเลขาธิการ คปภ.แทนผู้ครบวาระทำงานวันที่ 31 ต.ค.2566 หลังดำรงตำแหน่งมา 2 วาระ รวม 8 ปี

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img