เงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาตามคาดเพิ่มขึ้น 3.7% แต่นักลงทุนห่วงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นเปิดโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จับตาผลการประชุมอีซีบีวันนี้
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.66-35.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) โดยผันผวนไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ
ซึ่งเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาตามคาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาบ้าง อย่างไรก็ดี มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลว่า หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า (ดังจะเห็นได้จากการที่อัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดปรับตัวขึ้น ส่วนใหญ่มาจากผลของราคาพลังงาน) และเปิดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงไตรมาส 4 ได้ ทำให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลง กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงกลับมาใกล้ระดับก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด จะออกมาไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก (CPI +3.7%y/y, Core CPI +4.3%y/y ) ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟด ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้าและเปิดโอกาสให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหว sideway ของดัชนี S&P500 ก่อนที่จะปิดตลาดราว +0.12%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.32% กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซน อย่าง ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่หดตัวลงต่อเนื่อง แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง
ในฝั่งตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.25% หลังปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 4.32% อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มมองว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องได้ และเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ นอกจากนี้ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจได้แรงหนุนจากการปิดสถานะ Short เพื่อทำกำไรของผู้เล่นบางส่วนเช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด จะทำให้เราสบายใจมากขึ้นว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ทว่า เรามองว่า สัปดาห์นี้ยังคงมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม ทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (จับตา คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว) ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway และหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะกลับมาปรับตัวลดลงได้ชัดเจน อาจต้องรอลุ้น Dot Plot ใหม่ของเฟดในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ออกมาไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์รีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.7 จุด (กรอบ 104.5-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) อาจพอได้แรงหนุนบ้างในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ย่อตัวลง แต่ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลว่าเฟดอาจมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้นั้น ยังคงกดดันให้ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ควรจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ตามภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยูโรโซน อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 4.00% หลังอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่ ECB ประเมินไว้ อนึ่ง ภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวลงมากขึ้น (สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ต่ำกว่า 50 จุด ติดต่อกันหลายเดือน) ก็อาจทำให้ ECB จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต โดยหาก ECB แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ กังวลต่อความเสี่ยงการเกิด Stagflation ก็อาจยิ่งกดดันบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งยุโรปและค่าเงินยูโร (EUR)
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ทั้ง รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยในส่วนของ ยอดค้าปลีกนั้น นักวิเคราะห์ต่างมองว่า แนวโน้มการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ มีทิศทางชะลอตัวลงมากขึ้น สะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคม ที่จะขยายตัวเพียง +0.1%m/m จาก +0.7% ในเดือนก่อนหน้า (เรามองว่า การใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐฯ อาจชะลอตัวมากขึ้น หลังชาวอเมริกันราว 20% ต้องกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในเดือนตุลาคมนี้)
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนสิงหาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด จากระดับ 55.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้เสร็จสิ้นลง ช่วยลดความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศและสร้างความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันอาจยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เพราะแม้ว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาไม่ต่างจากคาดมาก แต่ในวันนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าเพิ่มเติม หากผลการประชุม ECB (รับรู้ในช่วง 19.15 น. ตามเวลาในประเทศไทย และ ประธาน ECB จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในช่วง 19.45 น.) ชี้ว่า ECB มีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ ECB เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอประเมินสถานการณ์ไปก่อน (สวนทางกับที่เราคาดการณ์ไว้ว่า ECB ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้) โดยภาพดังกล่าวจะยิ่งกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะยอดค้าปลีก (ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของยอดใช้จ่ายด้านพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน) ที่หากชะลอลง แย่กว่าคาด ก็อาจสะท้อนภาพการใช้จ่ายของชาวอเมริกันที่ไม่สดใสและอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว โดยในกรณีนี้ เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง
ทั้งนี้ เราประเมินว่า แม้เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง แต่การอ่อนค่าอาจจำกัดอยู่ในช่วง 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ยกเว้นว่า เงินดอลลาร์จะได้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจนและแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ปรับตัวขึ้นทะลุ 105 จุด ชัดเจน) ในกรณีดังกล่าว เรามองว่า ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททดสอบโซนแนวต้าน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนค่าสุดที่เราเคยประเมินไว้ในวันที่ 28 มิถุนายน ส่วนโซนแนวรับ เรามองว่า 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ อาจยังเป็นแนวรับแรกของเงินบาทในระยะสั้นนี้
อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.80 บาท/ดอลลาร์