“รัดเกล้า” ย้ำรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อย ตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนให้ลดต่ำกว่าระดับ ร้อยละ 80”
เมื่อวันที่ 13 ต.ค.66 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง เดินหน้าแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน และพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการทำงานตามนโยบายรัฐบาลในอนาคต ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและย้ำถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน โดยให้ดำเนินการให้ได้เร็วที่สุด
นางรัดเกล้า กล่าวว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ธนาคารออมสินจึงได้จัด “โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2566” มาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะ NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566
สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้น และให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25-100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้แต่ละราย เมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้ รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566
“รัฐบาลผลักดันนโยบายไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะลดหนี้ภาพรวมให้ลดลงอยู่ในระดับที่ยั่งยืน หรือต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี” นางรัดเกล้า กล่าว