วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเงินบาท“แข็ง”รับดอลลาร์“อ่อน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาท“แข็ง”รับดอลลาร์“อ่อน”

เงินบาทเปิดตลาด 36.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังดอลลาร์อ่อน- ทองคำดีดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสงครามอิสราเอล -ฮามาส

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้าที่เป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทย เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.13-36.55 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ หลังสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่อเค้าทวีความรุนแรงและเสี่ยงที่จะบานปลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ จากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามเช่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยอีกครั้ง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนและสหรัฐฯ พร้อมระวังและเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน จากภาวะสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นและเสี่ยงที่อาจจะบานปลาย

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด หลังทั้งรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ออกมาผสมผสาน ขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและพันธมิตร Axis of Resistance ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงและบานปลายขึ้น ก็อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ (Disinflation progress) ได้ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยราว 30% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ก่อนที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงกลางปีหน้า (ลดดอกเบี้ยทั้งหมดราว -75bps) ซึ่งนอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทเทคฯ ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกันยายนจากอังกฤษ ทั้งข้อมูลการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า BOE ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วที่ระดับ 5.25%

▪ ฝั่งเอเชีย – นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวราว +4.5%y/y ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็เป็นการขยายตัว +1.0%q/q สะท้อนภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศ หลังการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนกันยายน ที่ยอดค้าปลีกอาจโตได้ +4.9%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจขยายตัว +4.3%y/y ทั้งนี้ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจโตเพียง +5.2%y/y, YTD กดดันโดยภาคอสังหาฯ ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้จะเป็นไปอย่างช้า แต่ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยังคงอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ไว้ที่ระดับ 2.50% เช่นเดียวกัน กับ อัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี LPR 1 ปี และ 5 ปี ที่จะยังคงอยู่ที่ระดับ 3.45% และ 4.20% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกันยายน ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) ยังคงสูงกว่า 4% ก็อาจเพิ่มโอกาสให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าอาจชะลอลง หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวน ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาทองคำ ที่อาจผันผวนสูงไปตามปัจจัยสงครามและส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ และที่สำคัญทิศทางเงินหยวนจีน หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนก็จะมีผลต่อเงินบาทและสกุลเงินเอเชียได้พอสมควรเช่นกัน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนอยู่จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.85-36.60 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.30 บาท/ดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img