มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 2% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผยปีหน้าขยายตัวได้ 3.6% มูลค่า 291,773 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยประเทศต่างๆ ที่ชะลอตัว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การส่งออกไทยไตรมาสที่ 4/66 เริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าขยายตัวได้ถึง 6.8% จาก 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้ที่ติดลบต่อเนื่อง จากฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และสินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกได้มากขึ้น จากความต้องการในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ภาพรวมทั้งตลอดทั้งปีคงหดตัวที่ 2% มูลค่าการส่งออกประมาณ 281,593 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และคู่ค้ายังชะลอตัว
โดยการส่งออกของไทยขณะนี้ มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 และจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีหน้า มีเม็ดเงินเฉลี่ยกลับเข้ามาในระบบประมาณ 300,000-350,000 ล้านบาท เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทย รองจากเงินดิจิทัลวอลเล็ต หากคิดจากฐานเดิมที่รัฐบาล คำนวณ 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท เป็นเงินเติมเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปีหน้า ให้โตได้ในกรอบ 4.5-5%
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลคือเรื่องของเอลนีโญ ที่จะกระทบมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร แต่ละปี 1 ล้านล้านบาท หากหายไป 2-6% จะทำให้เงินหายไปจากระบบ 20,000-60,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก ดังนั้น หากนำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ปรับมาแจกให้เฉพาะ 40 ล้านคนจากฐานข้อมูลประชากร ที่รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ตามที่ภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เสนอให้นำเงิน จากที่เหลืออีกกว่า 1 แสนล้านบาท ไปทำโครงการแก้ไขปัญหาน้ำ จากภัยแล้งที่จะลากยาวไปหลายปี เพื่อป้องกันรายได้หดหาย ของประชาชนกลุ่มฐานราก เป็นต้น
ส่วนใน 67 คาดว่าจะจะขยายตัวได้ 3.6% มูลค่า 291,773 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยประเทศต่างๆ ที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายผลักดันการส่งออกของไทย ทั้ง Soft Power การแก้ไขอุปสรรคการค้าชายแดน และผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA จะกระตุ้นการส่งออกในตลาดต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ติดตามจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเอลนีโญ จะกระทบให้ผลผลิตการเกษตรของไทยลดลง ค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นกระทบกับการแข่งขัน และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนรวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ รัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดเกิดสงครามอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส กระทบต่อมูลค่าการส่งออกให้ลดลงเพียง 0.1% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ กรณีเลวร้ายที่สุดคือสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง จะกระทบการส่งออกไทยหดตัว 1.7% หรือมูลค่าประมาณ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก