วันเสาร์, กันยายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“ธปท.”ยันเศรษฐกิจไทยไม่เข้าขั้นโคม่า “ไม่จำเป็น”ต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินมาแจก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ธปท.”ยันเศรษฐกิจไทยไม่เข้าขั้นโคม่า “ไม่จำเป็น”ต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินมาแจก

ธปท.เผยศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าขั้นโคม่า ย้ำการบริโภคขยายตัว-การว่างงานยังต่ำ ไม่จำเป็นต้องออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อกระตุ้นครั้งใหญ่ เบรกรัฐบาลอย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แนะนำเงินเพิ่มศักยภาพประเทศ สร้างเศรษฐกิจรากฐานโตอย่างยั่งยืนดีกว่า

หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศเลือกช่องทางการกู้เงินเพื่อมาทำโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ผิดไปจากเดิมที่นายกฯประกาศว่า จะไม่กู้เงินเพื่อทำโครงการ โดยระบุถึงความจำเป็นที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแรงเข้าขั้นวิกฤต ให้กลับมาขยายตัวอยู่ในจุดที่ควรเป็น สร้างความสับสนกับสังคมว่า สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในจุดที่วิกฤตจริงหรือ หรือว่า กำลังฟื้นตัว และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่รัฐบาลต้อง “กู้เงินเพื่อมาแจก” ทำให้คนไทยต้องมาร่วมกันแบกรับหนี้ก้อนโต

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากตัวบ่งชี้ หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในขั้นวิฤกต ซึ่งจากรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ล่าสุด ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัวอยู่ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับตัวเลขการจ้างงาน ที่พบว่า ตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เพิ่มขึ้น จากทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ประกอบกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมปรับลดลงในหลายสาขา ดังนั้นจากภาพรวมทางเศรษฐกิจ จึงมองว่า มีความจำเป็นน้อยมากที่รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมาก เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ

“มองว่า มีความจำเป็นน้อย โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อแจก ยิ่งไม่จำเป็น เพราะภาคการบริโภคก็ยังขยายตัว อัตราการว่างงานก็ต่ำ ไม่ใช่วิกฤตแน่นอน วิฤกต คือ มี shock ยิ่งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง เช่น ปี 2541 จีดีพีต่ำสุดในช่วงวิกฤต ติดลบ 7.6% ธุรกิจล้มละลายกว้างขวาง คนตกงานมากมาย ต่างชาติหอบเงินกลับ ค่าเงินตกต่ำฮวบฮาบ ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอไม่ฟังชั่น เป็นต้น” แหล่งข่าวธปท.กล่าว

แหล่งข่าวธปท. ยังกล่าวด้วยว่า อยากเสนอแนะให้รัฐบาลยกเลิกความคิด การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรให้ความสำคัญในการนำเงิน หรืองบประมาณประเทศไปเพิ่มศักยภาพของประเทศ เพราะจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนมากกว่า เพราะการแจกเงินอาจทำให้จีดีพีประเทศพองตัวได้ 2-3 ไตรมาส สุดท้ายก็หดตัวกลับไปอยู่ที่ระดับเดิม

“การแจกเงิน เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถ้ากระตุ้นได้จริง ทำไมไม่มีประเทศไหนใช้การแจกเงินเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกเว้นเกิดวิกฤตช่วงโควิด ซึ่งทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่เพื่อการกระตุ้นอะไร ส่วนนโยบายแจกคูปองของญี่ปุ่น เป็นการช่วยสวัสดิการ ช่วยครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เขามีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี กว่า 260% เศรษฐกิจเซื่องซึมมาหลายสิบปี ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจไทย” แหล่งข่าวธปท.กล่าว

นอกจากนี้ มีความกังวลว่าโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยุคก่อน หากรัฐบาลไม่ยกเลิกความคิด สุดท้ายอาจมีวิกฤตศรัทธาของรัฐบาลเอง

ส่วนคำถามที่ว่า การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลสามารถทำได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ระบุชัดว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนที่ต้องตีความ

ขณะที่การก่อหนี้ใดๆของรัฐบาล ต้องเพื่อการใช้จ่ายที่มีคุณภาพ มีประโยชน์คุ้มค่า ซึ่งตามมาตรา 7 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ระบุไว้ว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย ซึ่งกรณีก็มองว่า ไม่เข้าข่ายแน่นอน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img