คณะกรรมการไตรภาษีทบทวน “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” รอบใหม่ปี 2567 วันนี้ พร้อมเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ใช้ตัวเลขเฉลี่ย 5 ปี จากเดิม 2 ปี คาดเพิ่มค่าแรงสูงขึ้นเล็กน้อย
รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคีในวันนี้ (20 ธ.ค.) จะมีการประชุมหารืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 รอบใหม่ ภายหลังกระทรวงแรงงานดึงเรื่องออกมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอไปทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยเบื้องต้นจะมีการพิจารณาตัวเลขที่นำมาใช้คำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 นั่นคืออัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานจังหวัด เฉลี่ย 5 ปี (ปี 2560-2564) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2562-2566) มาประกอบการพิจารณา เพราะในการคำนวณตัวเลขรอบก่อนในบอร์ดไตรภาคี ใช้ตัวเลขในช่วงปี 2563-2564 เท่านั้น
“ช่วงปี 2563-2564 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้นการนำข้อมูลในช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดฯดังกล่าว มาใช้ประกอบการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 อาจไม่สะท้อนถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันอย่างแท้จริง” รายงานข่าวระบุ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้นำสูตรคำนวณใหม่มาคิด ซึ่งอาจจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นมาอีกเล็กน้อยจากอัตราเดิมที่เคยเห็นชอบไว้ จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบมติการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567 ได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2567 ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 หรือปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงาน โดยจะเพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37%
สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ มีการปรับอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา วันละ 330 บาท ซึ่งหากผ่านการเห้นชอบจากครม. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป