โครงการดิจิทัลวอลเล็ตโยนรัฐชี้ขาด หลังยื่นกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลัง หากวิกฤติจริงควรออก “พ.ร.ก.” มากกว่า “พ.ร.บ.” ระบุการออกกฎหมายใช้เวลานานย้อนแย้งกันกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยความคืบหน้าโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่กระทรวงการคลังส่งข้อคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วในช่วงปลายปี 2566 ว่า คณะกรรมการกฤษฏีกาได้มีการประชุมและตอบคำถามของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตกลงกันอย่างเข้มงวดว่า จะไม่เป็นผู้ให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะให้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง เป็นผู้แถลงข่าวในเรื่องนี้เอง
สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ให้ความสำคัญคือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลจะสามารถทำได้เมื่อเกิดกรณีวิกฤติ ฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุว่าหากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ หรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ใน กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น
“มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่า กรณีที่เกิดวิกฤติกับประเทศรัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาใช้การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เช่น ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลขณะนั้น ใช้มติ ครม.ในการออก พ.ร.ก. ซึ่งเป็นวิธีการจัดการในช่วงที่เกิดวิกฤติ ไม่ใช่การออก พ.ร.บ.ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการนาน สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขนาดนี้ของประเทศไม่ได้วิกฤติจริง รัฐบาลจึงใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ซึ่งใช้เวลาในการออกกฎหมายนาน การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจึงมีความย้อนแย้งกันกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข
ขณะที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติไว้ว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ซึ่งการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลไม่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนในปีงบประมาณถัดไปตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดทั้งหมดจะรอฟังจากรัฐบาล