“รมช.คลัง” เผยกฤษฎีกาไฟเขียวให้รัฐบาลกู้เงิน 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัลได้ แต่ให้ทำตามมาตรา 53 และ 57 โยน ครม.หารือพรุ่งนี้
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ท กลับมาแล้ว ซึ่งคำตอบของกฤษฎีการะบุให้เป็นไปตามอำนาจของ ครม. และทางคณะกรรมการนโยบายฯ ที่จะดำเนินการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ ดังนั้น หลังจากนี้รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการต่อไป และมั่นใจว่าจะเติมเงินถึงมือประชาชน ให้สามารถใช้จ่ายได้ตามกำหนดเดือนพ.ค.67
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อสังเกตประมาณ ประกอบด้วย การออกพ.ร.บ.กู้เงิน จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะให้เป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รวมถึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งในวันนี้ กระทรวงการคลังได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ และในวันที่ 9 ม.ค.67 จะมีการนำเข้ารายงานในที่ประชุม ครม.ให้รับทราบด้วย
“ขั้นตอนต่อไปจากนี้ จะมีการนัดหมายเพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบาย คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุม เมื่อประชุมหาข้อสรุปแล้ว จะรู้ไทม์ไลน์ในการดำเนินการต่อไป จากนั้นจะขอความกรุณาจากเลขากฤษฎีกาช่วยสรุปคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ามีข้อสังเกต และมีวิธีการดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อนำเสนอแล้วจะมีมติเดินหน้าอย่างไร”
นายจุลพันธ์กล่าวว่า กฤษฎีกามามีความเห็นว่าทำได้ แต่มีข้อสังเกตว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น สถานการณ์วิกฤตไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ มาตรา 57 ความคุ้มค่าของโครงการต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านจะต้องมาดูว่าจะทำกลไกอย่างไรเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนจากประชาชน หรือเสียงสะท้อนจากส่วนงาน”
“รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างเปราะบาง และติดหล่มมานาน ประชาชนอยู่ในความเดือดร้อน ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่า คงต้องดำเนินการกระตุ้นได้แล้ว แต่กลไกทั้งหมด เมื่อมีข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงรัฐบาลในการที่จะหาคำตอบ และรายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อชี้ต่อสังคม”
ส่วนการเตรียมยกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ขณะนี้ได้เริ่มทำแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จ 100% คาดว่าสามารถทำได้รวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ โดยมีกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ได้รวมเงินที่จะเข้ามาจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งรายละเอียดจะประกอบด้วย หลักการและเหตุผล เนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอกสารประกอบ รายละเอียดโครงการทั้งหมด และรวมถึงรายละเอียดผลการชำระเงินคืนด้วย เป็นต้น