“พิชัย”ชี้ 5 ปัญหาใหญ่เศรษฐกิจที่ “ธปท.” ต้องช่วยแก้ แนะลดช่องว่างเงินกู้เงินฝาก แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ หนี้เสีย เพิ่มสภาพคล่อง กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.67 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ตนได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายทางการเงินที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่านโยบายทางการคลัง เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามานาน โดย ธปท. มีเครื่องมือหลายด้านที่จะสนับสนุนได้ โดยล่าสุดมีกระแสความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากที่พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีกำไรรวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาทในปี 2566 ทั้งที่เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่ และเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่ำมาก จึงอยากให้ ธปท. ได้มีมาตรการควบคุมอย่าให้ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบประชาชนมากจนเกินไปนัก
ทั้งนี้หากมองย้อนไปในปี 2563 ที่ประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด เศรษฐกิจไทยติดลบ -6.1% แต่กำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดยังมหาศาลถึง 1.46 แสนล้านบาท ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นต่างขาดทุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ประชาชนจำนวนมากสงสัยในประสิทธิภาพการกำกับดูแลของ ธปท. ที่ปล่อยให้ ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบประชาชนใช่หรือไม่ อีกทั้งการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ยังเป็นไปแบบไม่ทั่วถึง รายย่อยจำนวนมากไม่สามารถกู้เงินได้ นี่เป็นเพียงแค่บางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ ธปท. ได้แก้ไข และ เร่งออกนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ธปท. ควรจะต้องแสดงให้เห็นว่า ธปท. จะสนับสนุนอย่างไรในการแก้ไข ปัญหาใหญ่ทางศรษฐกิจ 5 เรื่อง ดังนี้
ประการที่ 1. ปัญหาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมาเป็นเวลานาน และยังมีแนวโน้มที่ปีนี้จะขยายตัวต่ำอีก ไม่น่าจะขยายตัวได้ตามที่ ธปท. คาดการณ์ ทั้งนี้เพราะการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2567 นี้ จะขยายได้เพียง 2% กว่าเท่านั้น และ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกมาตลอด และ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์มาตลอดเช่นกัน อีกทั้งภาคเอกชนต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่น่าจะดีนัก
ประการที่ 2. หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 16.5 ล้านล้านบาท หรือ กว่า 90% ของจีดีพี ธปท. จะช่วยแก้ไขอย่างไร รวมถึง หนี้ของ SMEs หนี้เสียในระบบธนาคาร และ หนี้นอกระบบ
ประการที่ 3. เงินเฟ้อที่ติดลบมา 3 เดือนติดต่อกัน จาก ตุลาคมที่ -0.31% พฤศจิกายนที่ -0.44% และ ธันวาคมที่ -0.83% และ เงินเฟ้อเดือนมกราคมก็น่าจะติดลบอีก หลังจากที่เงินเฟ้อไทยลดต่ำมาก่อนหน้านี้ 5 เดือนก่อนที่จะติดลบ น่าจะทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว ธปท. จะช่วยแก้ไขอย่างไร
ประการที่ 4. การส่งออกที่ติดลบในปี 2566 และส่งออกจะขยายตัวต่ำในปี 2567 ธปท. จะช่วยได้อย่างไร
ประการที่ 5. สภาพคล่องในระบบการเงิน และ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ลดลงมาก ธปท. จะช่วยได้อย่างไร
อยากให้ ธปท. ได้ชี้แจงว่าจะช่วยแก้ไข 5 เรื่องที่กล่าวมานี้อย่างไร เพราะเท่าที่ได้ยินเหมือนกับ ธปท. เห็นว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี เครื่องยนต์เศรษฐกิจเดินหน้าได้ครบ ซึ่งอาจจะตรงข้ามกับที่ประชาชนและนักธุรกิจกำลังสัมผัสอยู่ ซึ่ง ธปท. อาจจะไม่ทำอะไรเลยเพราะคิดว่าทุกอย่างดีแล้ว ซึ่งไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้อง โดย ธปท. มีเครื่องมือหลายด้านที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขยายตัวได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดช่องว่างเงินกู้เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การช่วยเหลือในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และ หนี้นอกระบบ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตนคงจะไม่ไปแนะนำว่าต้องทำอะไร เพราะ ธปท. น่าจะต้องมีข้อมูลและแนวทางในการสนับสนุนเพื่อแก้ไขเรื่องต่างๆเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ในมาตรการและในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพียงอยากให้มีแนวคิดที่ตรงกันในการฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การรักษาเสถียรภาพทางการเงินแต่เศรษฐกิจอยู่ในระดับการเจริญเติบโตที่ต่ำจะไม่สามารถทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงได้ และสุดท้ายก็จะไม่มีเสถียรภาพเพราะประชาชนจะลำบากกันมากจากการไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอ จึงอยากให้ ธปท. พิจารณาให้ดีในเรื่องนี้