ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดจับตาถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด-ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี-เงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.52-35.64 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กดดันให้เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ในช่วงวันพฤหัสฯถึงวันศุกร์นี้ อาทิ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี และการปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ที่ยังคงสดใส ขณะเดียวกันบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ก็ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ นำโดย Meta +3.3%, Nvidia +2.8% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.95% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.82%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.23% กดดันความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน จากรายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของเยอรมนี เดือนธันวาคมที่หดตัวต่อเนื่องแย่กว่าคาด นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจาก ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯใหญ่สหรัฐฯ ก็ส่งผลดีต่อหุ้นเทคฯยุโรปเช่นกัน นำโดย ASML +1.9%, SAP +1.0% และการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ดังกล่าวก็ช่วยหนุนให้โดยรวมตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงไม่มากนัก
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี สหรัฐฯ จะสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่ดีอยู่ ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.12% อนึ่งในระยะสั้น เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะการปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในระยะนี้ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯสามารถปรับตัวขึ้น ทะลุระดับ 4.20% ไปได้ ก็จะมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง กดดันความต้องการถือเงินดอลลาร์ ทว่าเงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากตลาดการเงินยังขาดปัจจัยใหม่ๆ ทำให้โดยรวมราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย.) ยังคงแกว่งตัวในโซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้ประเมินว่าหากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นสู่โซนแนวต้านแถว 2,060-2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์จากโซนแนวรับของราคาทองคำออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ หรืออย่างน้อยก็อาจชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ขณะที่โซน 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ดูเป็นแนวรับระยะสั้น ที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงนี้ และแรงซื้อทองคำในโซนแนวรับ ก็จะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
สำหรับวันน้คาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมกราคม ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯในช่วงนี้ได้ เนื่องจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี ในครั้งนี้ มีปริมาณที่สูงพอสมควร ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาว่า ความต้องการซื้อบอนด์สหรัฐฯ 30 ปี จะออกมาอย่างไร
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า ผลการประชุม กนง. ในวันก่อนหน้าที่ทำให้ บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ต่างชาติ ต่างปรับมุมมองว่า กนง. อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนเมษายน อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ในช่วงนี้ เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้
อย่างไรก็ดี ประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดได้ หากเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน อีกทั้งผู้เล่นต่างชาติก็อาจประเมินว่า หาก กนง. ทยอยลดดอกเบี้ยได้จริง ก็อาจส่งผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยเพิ่มเติม โดยเราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทในช่วงนี้ อาจอยู่ในโซน 35.70-35.75 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ควรจับตาทิศทางตลาดการเงินจีน หลังในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนทยอยปรับตัวขึ้นสูง ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเข้าพยุงความเชื่อมั่นตลาดหุ้นโดยทางการจีน ซึ่งก็มีส่วนช่วยหนุนเงินหยวนจีน (CNY) ดังนั้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้ เช่น อัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินหยวนจีน แข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียเช่นกัน
โดยรวมเงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน อีกทั้งตลาดยังคงคาดหวังการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ของ กนง. ในปีนี้ ทำให้เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้น จนหลุดโซนแนวรับ 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนักในระยะสั้นนี้ ยกเว้นว่า เงินดอลลาร์จะมีการกลับทิศทางอ่อนค่าลงชัดเจน ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานการปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯในวันศุกร์นี้
เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์