วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเงินบาทแข็ง! ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ แย่กว่าตลาดคาด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทแข็ง! ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ แย่กว่าตลาดคาด

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังรายงานยอดค้าปลีก สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควรกดค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า-บอนด์ยีลด์ย่อตัว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.03-36.18 บาทต่อดอลลาร์) ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม หดตัว -0.8%m/m แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ขณะเดียวกัน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ยังออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เล็กน้อย (ตลาดมอง ลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง) นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยความหวังว่าเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ยอดค้าปลีก และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง) เริ่มออกมาแย่กว่าคาดบ้าง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) ออกมาบ้าง อาทิ Alphabet -2.2%, Nvidia -1.7% ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.58%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.68% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจาก ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษล่าสุด ที่ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่าทั้ง BOE และ ECB อาจสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มออกมาแย่กว่าคาดบ้าง ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงทดสอบโซน 4.20% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่ระดับ 4.24% ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในโซนเหนือกว่า 4.20% ถือเป็นระดับที่น่าสนใจ และนักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (เรายังประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% ได้ง่ายนัก) อนึ่ง นักลงทุนอาจใช้กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือ ETF อย่าง IEF (iShares 7-10 Year Treasury Bond ETF) รวมถึงตราสารที่มี IEF เป็น underlying เพื่อเป็น proxy ในการลงทุนตามมุมมองดังกล่าวได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด และบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น ทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง (สอดคล้องกับมุมมองที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า) แต่โดยรวมราคาทองคำก็ยังสามารถแกว่งตัวแถว 2,015 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofM Consumer Sentiment) โดยในส่วนรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะกลาง จะมีทิศทางอย่างไร

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งอังกฤษ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาท แม้ยังคงมีอยู่ แต่ก็เริ่มแผ่วลงบ้าง ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ และอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เรามองว่า นอกจากทิศทางเงินดอลลาร์ ผู้เล่นในตลาดควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับทิศทางเงินบาทได้ในระยะสั้น โดยเราประเมินว่า ราคาทองคำอาจเริ่มอยู่ในช่วงสร้างฐานราคา หลังปรับตัวลงแรงก่อนหน้า ทำให้ยังพอมีโอกาสได้ลุ้นการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง ขณะเดียวกัน หากบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงก็อาจช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อหุ้นไทย เพราะในช่วงนี้ หุ้นขนาดเล็ก-กลาง เป็นกลุ่มที่กำลังทำผลงานได้ดี ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ ยังไม่ได้มีการรีบาวด์ขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากผลตอบแทนที่แตกต่างของดัชนี SSET หรือ MAI เทียบกับ ดัชนี SET50

ทั้งนี้ ในเชิงเทคนิคัล หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าต่อ และพลิกกลับมาย่อตัวลง จนแกว่งตัวแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า เงินบาทก็จะเริ่มมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัว sideways ตามสัญญาณ อาทิ Shooting star pattern, Bearish Divergence บน RSI เป็นต้น ซึ่งหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้จริง ก็อาจเผชิญแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับในระยะสั้น

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์

   

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img