วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightไทยรับอานิสงส์“ความขัดแจ้งภูมิรัฐศาสตร์” ดันส่งออกตลาดสหรัฐฯ-จีน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไทยรับอานิสงส์“ความขัดแจ้งภูมิรัฐศาสตร์” ดันส่งออกตลาดสหรัฐฯ-จีน

สนค.เผยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อการค้าโลก สงครามการค้าทำให้จีนเสียตำแหน่งแหล่งนำเข้าเบอร์ 1 กว่า 10 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ให้แก่เม็กซิโก ขณะที่ประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทน โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ-จีน พร้อมแนะจับตาสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างใกล้ชิด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ส่งผลต่อการค้าโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ตั้งแต่สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี ไปจนถึงความพยายามในการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน) และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่เป็นตัวเร่งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้าให้ชัดเจนขึ้น

โดยในปี 2566 จีนเสียตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ต่อเนื่อง 14 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ให้แก่เม็กซิโก โดยส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 7.7 ในช่วงการเกิดสงครามการค้า (ในช่วงปี 2560-2566) ในขณะที่ยังครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในตลาดสหภาพยุโรปต่อเนื่อง 17 ปี อย่างไรก็ดี สัดส่วนของสินค้าจีนในตลาดสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 2.0 เหลือเพียงร้อยละ 20.4 จากระดับสูงสุดที่ร้อยละ 22.4 ในปี 2563 สำหรับสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน สัดส่วนลดลงถึงร้อยละ 1.9 ในช่วงการเกิดสงครามการค้า

เมื่อพิจารณารายตลาดตั้งแต่เกิดสงครามการค้า พบว่า ในตลาดสหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้าจากจีนลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.8 และสัดส่วนสินค้าลดลง 7.7 จากระดับร้อยละ 21.6 ในปี 2560 มาอยู่ที่ร้อยละ 13.9 (มีมูลค่า 427,229 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2566 ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าจากภายในภูมิภาคอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.6 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2560-2566) โดยมูลค่านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.2 และร้อยละ 5.9 ตามลำดับ อีกทั้งสัดส่วนสินค้าจากเม็กซิโกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 แตะระดับร้อยละ 15.4 (มีมูลค่า 475,607 ล้านเหรียญสหรัฐ) และสัดส่วนสินค้าจากแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ที่ระดับร้อยละ 13.7 (มีมูลค่า 421,096 ล้านเหรียญสหรัฐ)

นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.2 13.0 10.4 4.8 และ 3.6 ตามลำดับในตลาดจีน แม้การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สูงกว่าก่อนเกิดสงครามการค้าแต่อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่ำที่ระดับร้อยละ 1.8 (มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยของจีนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 6.2 (CAGR)) และส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.9 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.5 (มีมูลค่า 166,085 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2566 ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย แคนาดา และบราซิล โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 33.1 21.7 20.9 14.3 และ 13.2 นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ โดยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 17.4 14.8 11.2 3.4 และ 1.1 ตามลำดับ

ในตลาดสหภาพยุโรป แม้จะไม่เห็นผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจน แต่พบว่าได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน โดยสัดส่วนการนำเข้าจากรัสเซียลดลงร้อยละ 5.1 จากระดับร้อยละ 6.9 ในปี 2564 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.8(มีมูลค่า 47,998 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2566 อีกทั้งสัดส่วนการนำเข้าจากจีนลดลงร้อยละ 1.8 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 20.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน (มีมูลค่า 555,426 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.6 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 13.5 (มีมูลค่า 366,392 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากการขยายตัวของการส่งออก ทั้งในตลาดสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการขยายตัวของสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรการรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า โดยในปี 2566 แม้มูลค่าการนำเข้าในตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป (คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 37 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566) จะหดตัวที่ร้อยละ -4.9 -5.6 และ -14.0 ตามลำดับ แต่การส่งออกของไทยทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยหดตัวเพียง -1.0 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะความตึงเครียดในทะเลแดงที่ยังไม่มีท่าทีจะจบลง ทำให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก-นำเข้าของไทยอย่างไร รวมถึงดำเนินการเชิงรุกในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดย สนค. ได้ติดตาม “สถานการณ์ความไม่สงบอิสราเอล-ปาเลสไตน์” อย่างใกล้ชิดในทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยในระยะข้างหน้า

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img