ธปท. เตรียมเรียกแบงก์พาณิชย์-วีซ่า-มาสเตอร์การ์ด หารือปมเก็บค่าธรรมเนียม รูดบัตรเครดิตต่างประเทศเพิ่ม 1% กรณีแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท ระบุต้องไม่ใช่ลักษณะบังคับจ่าย
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เตรียมเรียกสถาบันการเงินเข้ามาชี้แจง กรณีที่จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DCC Fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย ผ่านรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า มาสเตอร์การ์ด ชำระค่าสินค้าหรือบริการ ด้วยสกุลเงินบาทกับร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการในส่วนนี้อย่างไร
โดยพิจารณาเทียบเคียงที่มาที่ไปของต้นทุน และต่อให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง ผู้คิดค่าบริการก็ต้องมีการประกาศออกไป ให้ประชาชนทราบว่าเป็นการเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้จ่ายไม่ใช่ลักษณะบังคับต้องจ่าย เป็นหลักโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตามธปท. พร้อมรับฟังข้อมูลจาก 3 ฝ่าย 1.ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ถูกเรียกเก็บ 2.ทางสถาบันการเงินที่เป็นคนเก็บ และ 3.ตัวกลาง คือ วีซ่า มาสเตอร์การ์ด ซึ่งตอนนี้รับทราบข้อกังวลของประชาชนแล้ว ก็ต้องฟังอีกสองฝ่ายด้วยก่อนที่ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ค.นี้ การก็ต้องมีการประกาศออกไป ให้ประชาชนทราบว่าเป็นการเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้จ่ายไม่ใช่ลักษณะบังคับต้องจ่าย เป็นหลักโดยทั่วไป
ธนาคารพาณิชย์ ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียม 1% สำหรับการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) ตั้งแต่ 1 พ.ค.67 เป็นต้นไป
สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่ามาสเตอร์การ์ด เพื่อชำระสินค้า และบริการด้วยสกุลเงินบาท กรณีรูดบัตรในต่างประเทศ หรือรูดซื้อสินค้า จากร้านค้าในต่างประเทศ ร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ก็จะต้องถูกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว
ซึ่งการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ Spotify, VIU,Netflix, Agoda, Booking.com, Expedia, Klook, Airbnb, Trip.com, Facebook, Google, TikTok, PayPal, Alipay, eBay, Amazon, Apple, Alibaba and Taobao.
ส่วนการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ อาทิ Shopee, Lazada, Grab Taxi ทั้งนี้ ผู้ใช้บัตรเครดิตที่รูดใช้จ่ายในต่างประเทศเดิมจะถูกเรียกเก็บค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) ในอัตรา 2.0-2.5% แล้วแต่ธนาคาร ดังนั้นเมื่อ DCC Fee เริ่มมีผลบังคับใช้ ผู้ใช้บัตรจะถูกชาร์จ 1% เมื่อเลือกจ่ายในสกุลเงินบาท
สำหรับทางเลือกอื่นในการใช้จ่ายที่จะไม่ต้องเสียค่า DCC Fee จะต้องเลือกจ่ายเป็นเงินสกุลต่างประเทศที่เป็นประเทศปลายทาง หรือใช้จ่ายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น E-Wallet, บัตรเดบิต Travel Card ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม