“เอสเอ็มอี” วอนภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องสนับสนุนการพัฒนาสินค้าในประเทศให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้า-วัตถุดิบจากต่างประเทศ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจเรื่องการซื้อสินค้า วัตถุดิบนำเข้าของผู้ประกอบการ SME โดยสอบถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2,741 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-29 มกราคม 2567 พบว่า การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบของเอสเอ็มอี เกือบร้อยละ 30 เป็นการนำมาเพื่อประกอบกิจการเป็นส่วนใหญ่
โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางขนาดกลาง การนำเข้าสินค้า วัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21-40 ของต้นทุนสินค้าทั้งหมด เมื่อจำแนกตามภาคธุรกิจ พบว่า ภาคธุรกิจการเกษตรมีการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบมากถึงร้อยละ 67 แหล่งสินค้า วัตถุดิบที่นำเข้า มาจากจีน ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ และ เวียดนาม
หากพิจารณาตามสาขาธุรกิจที่มีการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบกิจการ พบว่า กลุ่มสาขาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกมีการนำเข้ามากถึงร้อยละ 78.9 รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจการเกษตร การก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์จากยาง วัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้าและสิ่งทอ การผลิตเครื่องหอม/เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ตามลำดับ
หากพิจารณาตามกลุ่มสินค้าที่ SME นำเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าศัตรูพืช น้ำยาทำความสะอาดสารตั้งต้น หัวเชื้อ รองลงมา คือ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากยาง ผลิตภัณฑ์จากโลหะ ผลไม้และเฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหารหรือภัตตาคาร รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
นอกจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อประกอบกิจการแล้ว เอสเอ็มอีบางส่วนได้มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการบริโภคเช่นกัน โดยจะสั่งซื้อผ่านคนกลางและผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม สำหรับสินค้าที่ เอสเอ็มอีนำเข้ามาบริโภค ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในบ้านทั่วไป รองลงมา คือ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องสุขภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความล่าช้า และค่าขนส่ง นับเป็นปัญหาสำคัญที่ SME กำลังเผชิญจากการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบ ส่วนในมุมมองของการบริโภคปัญหาจะอยู่ที่เรื่องของคุณภาพสินค้าไม่ตรงปก ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือในการควบคุมอัตราการเก็บค่าขนส่งสินค้า การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและการตีกลับสินค้า รวมถึงการส่งเสริมความรู้ในการนำเข้าส่งออกสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจได้สะท้อนถึงมุมมองการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากต่างประเทศของ SME พบว่า ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่นำเข้าสินค้า วัตถุดิบมาใช้ประกอบธุรกิจและจะยังคงนำเข้าต่อไปเพราะความต้องการของลูกค้าและคุณภาพของสินค้าที่เหมาะสมกับราคา ขณะที่ SME ร้อยละ 70 ที่ไม่มีการนำเข้า มองว่าการนำเข้าสินค้าไม่จำเป็นต่อธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีการให้บริการที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย อย่างไรก็ตาม SME รายย่อยมีสัดส่วนได้รับผลกระทบจากการนำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากที่สุด โดยเฉพาะภาคการค้า
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังกล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ กรณีที่ธุรกิจ SME มีการนำเข้าสินค้า วัตถุดิบโดยตรง พบว่า ร้อยละ 62.1 ของกลุ่มนี้ประเมินว่าธุรกิจของตนยังสามารถแข่งขันได้เพราะมีความได้เปรียบด้านประสบการณ์และการเข้าถึงลูกค้า ในทางกลับกัน เอสเอ็มอีบางสาขาธุรกิจ มีความกังวลถึงความสามารถในการแข่งขัน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมลองสินค้าใหม่ จากตัวเลือกที่มีเพิ่มมากขึ้น การขาดความรู้ในการสร้างกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน ซึ่งสาขาธุรกิจที่พบปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ สาขาค้าส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค สาขาบริการซ่อมบำรุง สาขาค้าปลีกอุปโภค/บริโภค (modern trade)
ดังนั้น การผลักดันการพัฒนาสินค้าในประเทศให้มีมาตรฐานรองรับ นโยบายสนับสนุนการซื้อสินค้าในประเทศ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ โปรโมทสินค้าและวัตถุดิบของไทย เป็นแนวทางสำคัญที่ SME มองว่าจะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใช้สินค้าวัตถุดิบในประเทศ ทดแทนการนำเข้าได้