“สนค.” เผยปี 65 มูลค่า FDI ภูมิภาคอาเซียนขยายตัว 4.6% เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ-ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยมีมูลค่า FDI 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 พาณิชย์แนะ 6 แนวทางดึงเม็ดเงินต่างประเทศเข้าไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก การจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่มาสู่ไทย ซึ่งนับว่า FDI ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ตามรายงานการลงทุนโลกประจำปี 2566 (World Investment Report 2023) โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) พบว่า ในปี 2565 มูลค่า FDI ของโลกหดตัวร้อยละ 12.4 ที่ระดับ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณกระแสทางการเงินและธุรกรรมที่ลดลงในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากการเผชิญกับหลายวิกฤต อาทิ สงครามในยูเครน ราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูง รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยไทยมีมูลค่า FDI ที่ 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ตามลำดับ โดยมูลค่า FDI หดตัวร้อยละ 31.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่า FDI ของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวร้อยละ 4.6
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ไทยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.2 ของมูลค่าเงินลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 ซึ่งบ่งชี้ว่าแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีแบบเร่งตัว ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ อันมีสาเหตุหลักมาจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน
รวมถึงตลาดเกิดใหม่ เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนข้ามชาติที่ต้องการขยาย ย้ายฐานการผลิตออกห่างจากพื้นที่พิพาท และความสะดวกในการส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดศักยภาพและตลาดใหม่ที่มีการเติบโตสูงรัฐบาลในหลายประเทศได้เห็นแนวโน้มดังกล่าวและตระหนักว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ จึงเร่งออกมาตรการเพื่อจูงใจนักลงทุนข้ามชาติในรูปแบบต่าง ๆ เข้าสู่ประเทศของตน
เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อการดึงดูดการลงทุนใน 5 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน พบว่า สิงคโปร์ มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมยุคใหม่ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกมีประเทศคู่ FTA ทั่วโลกมากที่สุดในอาเซียน (จำนวน 65 ประเทศ) แรงงานมีทักษะสูงและใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก นโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำระดับโลก และเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
ขณะที่ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ จำนวนแรงงานน้อยและค่าจ้างสูง รวมถึงการมีพื้นที่จำกัดและราคาที่ดินสูง อินโดนีเซีย มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ จำนวนแรงงานและการเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีทรัพยากรเหมืองแร่ที่สำคัญ อาทิ นิกเกิล ดีบุก และทองแดง รวมถึงนโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ ผลิตภาพแรงงานค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ประสิทธิภาพของระบบราชการและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
รวมถึงความท้าทายในการเชื่อมต่อด้านการขนส่งจากภูมิประเทศในลักษณะหมู่เกาะ เวียดนาม มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องในระดับสูงในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 7.5 (CAGR) มีประเทศคู่ FTA มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน (จำนวน 54 ประเทศ) มีเสถียรภาพทางการเมือง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน และการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
ขณะที่ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ ผลิตภาพแรงงานที่ยังคงต่ำ ระบบราชการและกฎหมายยังมีความซับซ้อน และโครงสร้างพื้นฐานยังจำเป็นต้องมีการพัฒนา อาทิ โครงข่ายการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการให้บริการทางด้านระบบไฟฟ้าและพลังงาน มาเลเซีย มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ แรงงานมีทักษะสูงโดยเฉพาะทักษะดิจิทัล และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างปิโตรเลียม และแร่โลหะที่สำคัญ ได้แก่ ดีบุก บอกไซต์ (อะลูมิเนียม) ทองแดง และเหล็ก นโยบายและมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการริเริ่มโครงการวีซ่าพรีเมียมเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาพำนักระยะยาว
นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติสูง มีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในหลายภาคธุรกิจ และค่าบริการในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค
ในขณะที่ไทย มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งด้านห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดัน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะรองรับการลงทุนสีเขียว ขณะที่ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ ไทยมีประเทศคู่ FTA ไม่มากนัก (จำนวน 19 ประเทศ รวมศรีลังกาที่ลงนามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567) เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และเวียดนาม การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลต่อจำนวนแรงงานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากความสำคัญของการลงทุนและโอกาสที่กำลังเกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้นไทยควรเร่งดำเนินการเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย อาทิ
(1) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเชิงรุก โดยการเร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จากกลุ่มนักลงทุนข้ามชาติที่มีศักยภาพ รวมถึงการสร้างการรับรู้เชิงบวกในการลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน
(2) การอำนวยความสะดวกและการแก้ไขอุปสรรคในการลงทุน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคชาวต่างชาติและผู้ติดตาม
(3) การเร่งเจรจาจัดทำ FTA โดยเฉพาะการจัดทำ FTA กับตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งการมีคู่ประเทศ FTA เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
(4) การเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน โดยในระยะสั้นและระยะกลาง ควรยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะขั้นสูง ดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ และอำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานกึ่งฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ในระยะยาว ควรมีการร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนในการวางแผนและปรับหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงทักษะด้านภาษา
(5) การพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการลงทุน โดยการส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการเร่งพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
(6) การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาระบบการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ และระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) รวมถึงการเร่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยการส่งเสริมการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและปรับเพิ่มความเร็วเพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษา และด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการบริหารจัดการอุปทานด้านพลังงานไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งรวมถึงการจัดหาพลังงานสะอาด