“การบินไทย” ขานรับนโยบาย “เศรษฐา” ดันไทยเป็น “ฮับการบิน” เล็งเพิ่มฝูงบิน-ขยายเครือข่ายสนามบินสุวรรณภูมิ คาดมาร์เก็ตแชร์เพิ่ม 30-35%
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และตั้งเป้าให้การบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ กลับมาติดอันดับ 1 ใน 3 สายการบินที่ดีที่สุดในเอเชีย อยู่ในระดับเดียวกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และ คาเธ่ย์ แปซิฟิคว่า ไทยเป็นศูนย์กลางการบินได้ต้องขยายเครือข่ายเส้นทางบิน ทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือก และมีความสะดวกในการต่อเครื่องบิน โดยแผนธุรกิจตั้งแต่อดีต และปัจจุบัน เรามุ่งเป้าที่จะเป็นเน็ตเวิร์คแอร์ไลน์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.ระยะเวลาในการต่อเครื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังประเทศอื่นต้องสั้น และแข่งขันได้กับอื่น หน้าที่ของการบินไทยและบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.จึงต้องประสานความร่วมมือกันในการกำหนดประตูทางออกขึ้นเครื่อง (GATE) รวมถึงเทอร์มินัล และการจัดโซนนิ่งที่จอดเครื่องบิน ให้มีความพร้อมมีประสิทธิภาพ
2. การเพิ่ม Capacity หรือ กำลังการผลิต ซึ่งในขณะนี้การบินไทยได้จัดหาฝูงบินล็อตใหญ่ในอนาคต จำนวน 80 ลำ ในปี 2570-2576 โดยเป็นการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จำนวน 45 ลำ และอีก 35 ลำอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติม แต่ฝูงบินเหล่านั้นจะมาล็อตแรกก็ใน ปี 2570
ดังนั้นในช่วงนี้การบินไทยต้องจัดหาฝูงบินชั่วคราว (Interim Fleet) โดยเช่าเครื่องบิน มาเสริมฝูงบินไปก่อน อาทิ แอร์บัส A321 NEO ,A350,โบอิ้ง 787-9 ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีประสิทธิผลเต็มตามเป้าหมายทันทีไหมก็ยัง แต่อย่างน้อยก็มีการเริ่มดำเนินการเป็นฮับได้ในอนาคต
เช่นเดียวกับกรณีที่นายกเศรษฐกิจตั้งเป้าอยากให้การบินไทย กลับมาเติบโตในระดับโลก โดยอย่างน้อยติดอันดับ 1 ใน 3 ในเอเชียนั้น ต้องใช้เวลา ทุกอย่างต้องมาพร้อมกัน และขึ้นอยู่กับการจัดหาฝูงบินเพิ่ม 45 ลำที่จะเพิ่มเข้ามาด้วย ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินอยู่ 70 ลำ ปีนี้ได้เช่าเพิ่มอีก 8-9 ลำ รวมเป็น 78-79 ลำ และเพิ่มเป็น 90 ลำภายในสิ้นปี 2569 เพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น
การบินไทยต้องมีเครื่องบินที่เพียงพอรองรับกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงใช้ระยะเวลาในการต่อเครื่องที่รวดเร็ว ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็สอดรับกับแผนธุรกิจของการบินไทยในขณะนี้ ซึ่งการจัดหาฝูงบินใหม่ จะทำให้การบินไทยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เมื่อปี 2556 การบินไทย มีส่วนแบ่งตลาดที่สนามบินสุวรรณภูมิ 51.3% ปัจจุบันเหลือเพียง 21-22% จากจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการ 70 ลำ และการจัดหาฝูงบินล็อตใหญ่ 80 ลำ จะทำให้สิ้นปี 2577 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้าการบินไทยจะมีฝูงบินรวมทั้งสิ้นประมาณ 134 ลำ ทำให้การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้ถึงราว 30-35%
แต่ถ้าไม่ดำเนินการจัดหาเครื่องบินเพิ่มในปี 2575-2576 จะเหลือเครื่องบินเพียงแค่ 51 ลำเท่านั้น ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือทำให้สามารถกลับมาพลิกฟื้นและมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นได้คือ การจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีกำหนดจะปลดระวางและทยอยหมดสัญญาเช่า
ขณะเดียวกันการบินไทยก็อยากจะขอการสนับสนุนจากภาครัฐ คือ เวลาจัดหาเครื่องบิน เราต้องขออนุญาตการนำเครื่องบินมาจดทะเบียนในไทย ถ้ามีการดำเนินการได้รวดเร็ว การบินไทยก็จะสามารถบริหารจัดการฝูงบินได้เร็วขึ้น และอยากจะขอให้การจัดตารางการบิน (สล็อตบิน) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในอนาคต ช่วยพิจารณาให้สายการบินที่เป็น Homebased Carrier ได้รับการจัดสรรตารางการบินเป็นอันดับแรก (First priority)
การจะเป็นฮับการบินในระยะสั้นจะต้องมี 3 ปัจจัยรวมกันคือ 1.ระยะเวลาต่อเครื่องน้อยที่สุด 2.การบริหารจัดการภายในอาคารผู้โดยสารให้อยู่ในโซนเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารผู้โดยสารและบริการภาคพื้น และ 3.การให้บริการภายในสนามบิน เช่น ตม.ก็ต้องมีระบบอำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่ดี ส่วนในระยะยาวจะเป็นเรื่องของการขยายสนามบินของ ทอท.
นอกจากนี้การบินไทยยังมีแผนจะลงทุนก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)เพิ่มอีก 1 แห่ง อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( EEC) โดยจะร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยู่ระหว่างทำแผนการลงทุน โดยคาดว่าให้ตอบกับ EEC ได้ภายในกลางปีนี้ นอกจากนี้การบินไทย ยังได้หารือร่วมกับทอท. หารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย