วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เงินบาทอ่อน” รับดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทอ่อน” รับดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่ง

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 35.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่ง ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากการปรับสถานะถือครองก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า   ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.77-35.93 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด หรือ ช้ากว่าคาด) ซึ่งกดดันทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท น

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากการผันผวนอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งนอกเหนือจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เงินเยนญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากการปรับสถานะถือครองก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในสัปดาห์นี้

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.30% ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ได้ประเมินไว้ หากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง การประชุม FOMC ของเฟด การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ สหรัฐฯ – รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนี PPI ล่าสุดสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดจะยิ่งไม่รีบลดดอกเบี้ยและอาจทำให้เฟดมีโอกาสปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจรวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุม FOMC เดือนมีนาคมนี้ โดยสำหรับการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เราคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดหวัง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงาน และทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงชะลอตัวลง (แม้อาจจะชะลอตัวลงช้า) จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ Dot Plot ใหม่ “ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” จาก Dot Plot ในการประชุมเดือนธันวาคม อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ คณะกรรมการ FOMC ส่วนใหญ่จะยังคงเห็นชอบให้ เฟดปรับลดดอกเบี้ยลงราว 3 ครั้งในปีนี้ และ ราว 4 ครั้งในปีหน้า

ทั้งนี้ ควรระวังกรณีที่ เฟด ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น และอาจปรับ Dot Plot ใหม่ ที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาดการณ์ก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กดดันราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร นอกเหนือจากผลการประชุม FOMC ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) โดย S&P Global รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่จะช่วยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้

▪ ยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เพื่อประกอบการพิจารณา แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสฯ โดยเราประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% พร้อมย้ำจุดยืนยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (อาจเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2) จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากขึ้นจากระดับปัจจุบันแถว 4% อนึ่ง หาก BOE ส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมลดดอกเบี้ย หรือ ประเมินภาพเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ นอกเหนือจากการประชุม BOE ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซน พร้อมกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

▪ เอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราประเมินว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% ตามเดิม ทว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออาจอยู่แถวระดับเป้าหมาย 2% ได้สำเร็จ กอปรกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาจทำให้ BOJ ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การยกเลิก Yield Curve Control (YCC) และการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QQE) ที่อาจจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

อย่างไรก็ดี ผู้ในตลาดต่างคาดหวัง การสื่อสารที่มีความ Hawkish มากขึ้นจาก BOJ ทำให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้พอสมควร หาก BOJ ยังย้ำจุดยืนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ นอกเหนือจากผลการประชุม BOJ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้ง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOJ ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน ทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Productions) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways แต่ยังเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านได้ไม่ยาก หากตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และยังคงต้องระวังการปรับฐานต่อเนื่องของราคาทองคำ รวมถึงทิศทางสกุลเงินเอเชีย โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่นที่อาจผันผวนอ่อนค่าได้ ซึ่งจากปัจจัยข้างต้นทำให้เราประเมินว่า โซนแนวต้านยังคงอยู่ในช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรก (แนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์) และหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยโซนแนวรับแรกของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์)

ส่วนเงินดอลลาร์นั้น อาจทรงตัว sideways หรือย่อตัวลงบ้าง หาก Dot Plot ใหม่ของเฟดยังคงสะท้อนว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ทว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น หาก Dot Plot ใหม่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หาก BOJ ยังไม่ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดตามที่ตลาดคาดหวัง

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forwardมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.50-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img