ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” ดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์ดีดปรับตัวขึ้น ตลาดรอผลการประชุมเฟดเช้าตรู่พรุ่งนี้ ลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของอังกฤษ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.04-36.10 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์เล็กน้อยของราคาทองคำ
นอกจากนี้ การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้ส่งออกมีการทยอยขายเงินดอลลาร์บ้าง หรือผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ตั้งแต่การกลับตัวจากโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจทยอยขายทำกำไรก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นชะลอลง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าทะลุเหนือโซนแนวต้าน จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นในธีม AI โดยเฉพาะ Nvidia +1.1% ที่ได้อานิสงส์จากการเปิดตัวชิป AI รุ่นใหม่ที่ทรงพลัง ในงาน “NVidia GTC 2024” นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ ยังช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +0.7% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.56%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น +0.26% หนุนโดยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซน (ZEW Economic Sentiment) ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Total Energies +2.7% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันอยู่บ้าง จากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่ม Healthcare อย่าง Novo Nordisk -1.9%
ขณะที่ตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.30% โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุมเฟดที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯนี้ โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ คือคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่ของเฟด ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า Dot Plot ใหม่ของเฟด อาจชี้ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ที่เคยประเมินไว้ โดยเรามองว่าในกรณีดังกล่าว หากเกิดขึ้น ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯผันผวนสูงขึ้นได้และมีโอกาสทดสอบโซน 4.50% ในระยะสั้น แต่เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip บอนด์ 10 ปีสหรัฐฯได้ จาก Risk-Reward ที่ยังมีความน่าสนใจของการถือบอนด์ระยะยาว ในจังหวะดอกเบี้ยขาลง
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ย่อตัวลงเล็กน้อย ตามการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะลดสถานะ Long USD และขายทำกำไรสถานะดังกล่าว ก่อนรับรู้การประชุมเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.8-103.4 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ทว่าจังหวะการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังพอช่วยให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าซื้อทองคำเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นผลการประชุมเฟด
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ฝั่งยุโรป โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของอังกฤษ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯราว 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราประเมินว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% ตามที่ตลาดคาดหวังไว้ ทว่าประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ คาดการณ์เศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จะเปิดทางให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าหากเงินบาททะลุโซนแนวต้านดังกล่าวได้จริง ก็จะยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปสู่โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ (ในเชิงเทคนิคัล ภาพดังกล่าว คือ การอ่อนค่าทะลุ Triple Tops) ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกดดันต่อเงินบาท รวมถึงทุกสินทรัพย์ในตลาดการเงิน คือผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยเฉพาะในประเด็น Dot Plot ใหม่
โดยเราประเมินว่า Dot Plot ใหม่จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจะยังคงสะท้อนว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งในปีหน้า เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น มีการชะลอตัวลงมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงานและการบริโภคครัวเรือน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจชะลอตัวลงช้าบ้างก็ตาม โดยหาก Dot Plot ใหม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจมีการ “Sell on Fact” ขายทำกำไรสถานะ Long USD หรือฝั่ง Short UST ออกมาบ้าง ทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจย่อลงเล็กน้อย และช่วยหนุนทั้งราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทให้รีบาวด์ขึ้นบ้าง ที่น่าสนใจคือ เงินเยนญี่ปุ่นที่ผันผวนอ่อนค่าลงมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก ก็อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะหากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯย่อตัวลงได้จริง
ในทางกลับกัน เรายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลง Dot Plot ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะอาศัยแค่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพียง 2 เสียง ที่มองเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือน้อยกว่า ในการที่จะทำให้ Median ของ Dot Plot ในปีนี้ สะท้อนว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งหาก Dot Plot ใหม่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้งจริง เราคาดว่า ตลาดการเงินจะผันผวนสูงขึ้นตามความกังวลแนวโน้มเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือ ธีม “Higher for Longer” จะกลับมากดดันตลาด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้พอสมควร กดดันให้ เงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้ได้เช่นกัน ทั้งนี้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับคาดการณ์ของเฟด ว่าจะลดดอกเบี้ยกี่ครั้ง หรือไม่ลดดอกเบี้ยเลย (เงินดอลลาร์แข็งค่ามากสุด และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้สูงสุด ในกรณีนี้)
ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุดนักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ไทย ทั้งบอนด์ระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.15 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟดและประเมินกรอบเงินบาท 35.85-36.35 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด