ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ” นักปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์ ขณะที่เฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.35-36.44 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯในคืนวันศุกร์ (ตลาดการเงินสหรัฐฯและยุโรปปิดทำการ เนื่องในวันหยุด Good Friday) ทำให้เงินบาทไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ถ้อยแถลงล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller (ในช่วง 05.00 น. เช้าวันพฤหัสฯ) ที่ยังย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์และยังคงกดดันทั้งราคาทองคำ รวมถึงเงินบาท
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.86% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม หลังบรรดานักวิเคราะห์ทยอยปรับเป้าดัชนี S&P500 สูงขึ้น ตามมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นวันหยุดของตลาดการเงินสหรัฐฯ
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.13% ท่ามกลางความหวังการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในยุโรป อย่าง ธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) ที่ล่าสุดส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 สอดคล้องกับการส่งสัญญาณทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง หลังหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง อาทิ Shell -1.3% ตามจังหวะการย่อตัวของราคาน้ำมันดิบ
ด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯย่อตัวลงสู่ระดับ 4.19% โดยส่วนหนึ่งมาจากการทยอยปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะเป็นวันหยุดของตลาดการเงินสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดบอนด์ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงวันหยุด Good Friday ซึ่งจะเป็นวันที่ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเราคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เราคงแนะนำนักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ 10 ปีสหรัฐฯในทุกจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับ 4.20% จาก Risk-Reward ที่มีความคุ้มค่าพอสมควร
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯและภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.5 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯและเงินดอลลาร์ ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อ และทรงตัวแถวโซนแนวรับ 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 4 รวมถึง รายงานยอดค้าปลีกและอัตราการว่างงานของเยอรมนี
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 เช่นกัน นอกจากนี้ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ก็จะเป็นอีกข้อมูลที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทเรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ทว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเช้านี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ที่ย้ำจุดยืนเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัด เพราะอย่างน้อย เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เหมือนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกังวลต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนจากทางการญี่ปุ่นมากขึ้น
โดยในวันก่อนหน้า ข่าวการประชุมของทางการญี่ปุ่นสามฝ่าย (MOF, FSA และ BOJ) ก็ได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง จนทดสอบโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่ระดับล่าสุดแถว 151.3-151.4 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ทำให้ในระหว่างวัน การอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์ ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ไม่เกินโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ เข้ามา
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้งมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.50 บาทต่อดอลลาร์