วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘สนค.’ชงธุรกิจเจาะตลาดส่งออกใหม่ รับมือ‘ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘สนค.’ชงธุรกิจเจาะตลาดส่งออกใหม่ รับมือ‘ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์’

“สนค.” เสนอภาคเอกชนเจะตลาดส่งออกใหม่ รับเหตุการณ์ไม่แน่นอนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์-ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เผยปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ประเทศทำให้การส่งออกไทยอ่อนไหวหากประเทศเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าหรือลดการนำเข้าจากไทยลง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดส่งออกศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจได้สร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออก เนื่องจากตลาดส่งออกของไทยในปัจจุบันค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ไม่กี่ประเทศ จากข้อมูลการส่งออกในปี 2566 พบว่า ร้อยละ 70 ของการส่งออกรวม เป็นการส่งออกไปยังอาเซียน (9) (สัดส่วน 23.5%) สหรัฐฯ (สัดส่วน 17.2%) จีน (สัดส่วน 12.0%) ญี่ปุ่น (สัดส่วน 8.7%) และสหภาพยุโรป (สัดส่วน 7.7%) ทำให้การส่งออกไทยอ่อนไหวหากประเทศเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าหรือลดการนำเข้าจากไทยลง ประกอบกับทิศทางการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่กระทบต่อการส่งออกของไทย

เพื่อส่งเสริมให้ภาคการค้าระหว่างประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน สนค. จึงได้เสนอแนวทางการขยายตลาดส่งออก
เชิงรุกใหม่ ๆ โดยพิจารณาจากความสามารถในการนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่อยู่ในระดับสูง-ปานกลาง แต่ไทยยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า โดยวิเคราะห์จากดัชนีชี้วัดศักยภาพการนำเข้า (Import Potential Index: IPI) ที่วัดจากตัวแปรทางเศรษฐกิจและการค้า 34 ตัวชี้วัด ใน 6 มิติ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจมหภาค 2) การค้ากับต่างประเทศ 3) ต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ 4) โครงสร้างพื้นฐานทางการค้า 5) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และ 6) แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ร่วมกับดัชนีชี้วัดความสอดคล้องทางด้านการค้ากับไทย ประกอบด้วย ดัชนีความสอดคล้องทางการค้า (Trade Complementarity Index: TCI) และดัชนีความสัมพันธ์ทางการค้า (Trade Combination Degree: TCD) เพื่อคัดกรองประเทศศักยภาพใหม่ ๆ และวางกลยุทธ์ขยายตลาดส่งออกตามระดับศักยภาพการนำเข้าและความสอดคล้องของสินค้าระหว่างไทยกับคู่ค้า

ข้อเสนอกลุ่มตลาดศักยภาพใหม่ ๆ ที่ควรผลักดัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าสูง และไทยส่งออกไปในสัดส่วนที่สูง แต่ยังน้อยกว่าศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

ตลาดในกลุ่มนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ส่วนประกอบนาฬิกา พลอย เนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้ ผักสดหรือแช่เย็น สับปะรดแปรรูป และผลไม้แห้ง) สหราชอาณาจักร (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถปิคอัพ รสบัสและรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้อาหารสุนัขและแมว น้ำตาลทรายขาว และเครื่องแกงสำเร็จรูป)

เกาหลีใต้ (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ ยางยานพาหนะ น้ำมันถั่วเหลือง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง น้ำตาลทรายขาว และมะม่วงสด) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อาหารปรุงแต่ง น้ำตาลทรายขาว และอาหารทะเลกระป๋อง)

ซาอุดีอาระเบีย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน รถปิคอัพฯ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ ข้าวโพดหวานกระป๋อง แปรรูป ข้าวนึ่ง กุ้งแปรรูป และข้าวหอมมะลิ 100%) กาตาร์ (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง พลอย อาหารปรุงแต่ง อาหารสุนัขและแมว ขิง หญ้าฝรั่น ขมิ้น ไทม์ ใบเบย์ หอมแขก และเครื่องเทศอื่น ๆ)

อิสราเอล (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ เพชร ส่วนประกอบของเครื่องโทรสารและโทรศัพท์ เอทิลีน ปลาแปรรูป ข้าวขาว 5-10% ข้าวหอมมะลิ 100% และข้าวโพดหวานกระป๋อง) แคนาดา (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ซอสพริก ข้าวหอมมะลิ 100% ข้าวขาว 100% และข้าวนึ่ง)

เม็กซิโก (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องโทรสารและโทรศัพท์ รถยนต์นั่งประเภทยานยนต์ไฟฟ้ามีทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ข้าวขาว 100% สับปะรดกระป๋องและแปรรูป และผลไม้แปรรูป) ชิลี (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ บอยเลอร์ เมล็ด ผลและสปอร์ ชนิดที่ใช้เพาะปลูก กุ้งกระป๋อง อาหารสุนัขและแมว และข้าวขาว 100%) และรัสเซีย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ อากาศยานฯ ยางยานพาหนะ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ข้าวขาว 5-10% อาหารสุนัขและแมว วิสกี้ และโกโก้และของปรุงแต่ง)

แนวทางในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ ขยายความร่วมมือและเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น ตลอดจนปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ และรักษามาตรฐานสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งหาช่องทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับศักยภาพการนำเข้าของคู่ค้า

กลุ่มที่ 2 กลุ่มประเทศคู่ค้ามีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ระดับมูลค่าส่งออกของไทยไปประเทศนั้น ๆ ยังอยู่ในระดับปานกลางถึงน้อยตลาดในกลุ่มนี้ ได้แก่ นอร์เวย์ (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถปิคอัพฯ โครงก่อสร้างทำด้วยเหล็ก แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสพริก และข้าวหอมมะลิ 100%) อาเซอร์ไบจาน (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยางยานพาหนะ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน ผลไม้แปรรูป ข้าวโพดหวานกระป๋อง ซอสพริก และสับปะรดกระป๋อง) และคาซัคสถาน (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถปิคอัพฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง สิ่งปรุงแต่งที่ใช้กับหน้าและบำรุงผิว โกโก้และของปรุงแต่ง และอาหารสุนัขและแมว)แนวทางส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ การขยายความร่วมมือและเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น และเร่งศึกษาตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการค้า

กลุ่มที่ 3 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าปานกลาง แต่ความต้องการซื้อตรงกับความต้องการขายอยู่ในระดับสูงตลาดในกลุ่มนี้ ได้แก่ โมร็อกโก (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์นั่งประเภทยานยนต์ไฟฟ้าฯ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ อาหารสุนัขและแมว อาหารปรุงแต่ง และ
น้ำสับปะรด) เซอร์เบีย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถปิคอัพฯ เหล็กและเหล็กกล้า ทูน่ากระป๋อง ปลาแปรรูป และสับปะรดกระป๋อง)

โคลัมเบีย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ไม้อัด อาหารสุนัขและแมว สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และผลไม้กระป๋อง) บาห์เรน (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า หลอดหรือท่อและอุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อทองแดง อาหารสุนัขและแมว และข้าวนึ่ง)

ยูเครน (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถปิคอัพฯ รถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง กุ้งแปรรูป และปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง) อุรุกวัย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ ถุงและกระสอบพลาสติก รถปิคอัพฯ เม็ดพลาสติก สับปะรดแปรรูป และข้าวโพดหวานกระป๋อง)

อาร์เมเนีย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ เพชร เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ข้าวขาว 100% ข้าวนึ่ง ไข่มุก และซอสพริก) กานา (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ โพรพิลีน โพลิอะซิทัล ข้าวขาว 100% ปลายข้าวหอมมะลิ และสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง) และโบลิเวีย (สินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถปิคอัพฯ ทูน่ากระป๋อง ยางยานพาหนะ และข้าวโพดสำหรับทำพันธุ์)แนวทางส่งเสริมและผลักดันการส่งออกที่สำคัญ คือ ศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดกลุ่มนี้ให้ได้มากขึ้นในอนาคต

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าตลาดเหล่านี้จะมีสัดส่วนไม่มากในปัจจุบัน แต่ความสอดคล้องของทางการค้าสินค้ากับไทยที่สูงจะทำให้สามารถสร้างโอกาสในการขยายส่วนแบ่งการตลาดในประเทศที่กล่าวมาข้างต้นได้มากขึ้น
โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้า เปิดเสรีการค้าระหว่างกันมากขึ้น ตลอดจนศึกษากฎระเบียบในการนำเข้าและแนวโน้มความต้องการสินค้าของตลาดเหล่านี้ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าไทยให้ขยายตัวมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img