กระทรวงพลังงานเสนอ ครม. 4 แนวทางรับมือราคาน้ำมันพุ่ง-ลดภาระค่าครองชีพประชาชน หลังมาตรการลดภาษีดีเซล 1 บาท ต่อลิตรจะสิ้นสุด 19 เม.ย.นี้ ขณะที่กองทุนน้ำมันหลังแอ่นติดลบแสนล้านแบกรับภาระต่อไปไม่ไหว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอที่ประชุม ครม.วันนี้ (18 เม.ย.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนไป และลดภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบ 1 แสนล้านบาท หลังรัฐบาลตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร มาตั้งแต่เดือน ก.ย.66 ซึ่งหากสถานการณ์อิหร่านและอิสราเอลบานปลายจะทำให้ทั่วโลกรวมทั้งไทยได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสัดส่วน 57% และนำเข้า LNG จากต่างประเทศ 33% จากหลากหลายแหล่ง
ทั้งนี้ การใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาดีเซลมานานส่งผลให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วันที่ 27 มี.ค.67 เห็นชอบปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.67 ดังนั้น กบน.จึงขยับราคาขายปลีกดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เป็น 30.44 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.67 ถือเป็นครั้งแรกของปีนี้
สำหรับแผนรับมือราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งกระทรวงการคลังได้ลดภาษีดีเซล 1 บาท ต่อลิตรจะสิ้นสุด 19 เม.ย.67 นี้ ส่วนมาตรการที่เสนอนั้นมี 4 แนวทางคือ
1.กระทรวงการคลังขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร (เฉลี่ยเดือนละ 2,000 ล้านบาท) 2.ครม. อนุมัติงบประมาณกลางเพื่อนำเงินมาช่วยเป็นส่วนลดน้ำมันดีเซล 3.ปล่อยให้ราคาดีเซลทยอยปรับขึ้นราคาจตามกลไกตลาดโลก 4.กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันที่ยังสามารถกู้เงินได้ตามกรอบวงเงิน
ทั้งนี้ จากกรณีที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงผันผวน รัฐบาลใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และการลดภาษีน้ำดีเซล รวมแล้วชดเชยราคาดีเซลลิตรละ 4 บาท เศษ ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายเดือนละ 8,000-10,000 ล้านบาท และทำให้กองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 14 เม.ย.67 ติดลบ 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนบัญชีแอลพีจี ติดลบ 47,213 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ กองทุนน้ำมันฯ จะรับภาระทั้งหมดอาจไม่ไหวต้องขยับราคาน้ำมันดีเซลอีก 50 สตางค์ เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ราคาน้ำมันขยับเป็น 30.94 บาทต่อลิตร เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะยังคงมีความผันผวนแน่นอนจากภาวะสงคราม
ทั้งนี้ ภายหลังสหรัฐประกาศคว่ำบาตรน่าจะมีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก เพราะวัน 2 วัน ที่ผ่านมามีทั้งปรับขึ้นและลงแม้จะไม่มาก โดยดีเซลตลาดโลกอยู่ที่บาร์เรลละ 106 ดอลลาร์ ส่วนน้ำมันดิบดูไบบาร์เรลละ 90 ดอลลาร์ เมื่อรวมกับเงินบาทอ่อนค่าทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักเงินเพิ่มลิตรละ 4 บาท ซึ่งทุกฝ่ายทราบว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ ไม่ไหวแล้ว เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เดือนละ 250 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น เบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบราว 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีกราว 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูปราว 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบเฉลี่ย 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน
นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ได้มีการเฝ้าระวังราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารราคาและดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ดังนั้น ขอประชาชนไม่ต้องกังวลว่าน้ำมันขาดแคลนเพราะปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 70 วัน แบ่งเป็นสำรองในประเทศ 45 วัน ปริมาณ 3,910 ล้านลิตร และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 25 วัน ปริมาณ 2,180 ล้านลิตร
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือว่าจะต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 1 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังมีกรอบวงเงินเพียงพอ
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตหวังว่ามาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะเป็นเครื่องมือตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30.50 บาท เพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งจะส่งผลต่อการตั้งงบประมาณในปีถัดไปด้วย อย่าางไรก็ตาม หากลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตร จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ลดภาษีเบนซิน 1 บาทต่อลิตร ทำให้รัสูญเสียรายได้ 900 ล้านบาทต่อเดือน
รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ในช่วง 5 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-ก.พ.2567) ต่ำกว่าประมาณการ 32,841 ล้านบาท 13.3% อยู่ที่ 213,864 ล้านบาท แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7.9%