“จุลพันธ์” ยันรัฐบาลไม่ได้กู้เงิน “ธ.ก.ส.” มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นการใช้กลไกงบประมาณ มั่นใจไม่ทำธ.ก.ส. ขณะที่ “ซุปเปอร์แอพฯ” ใช้งบประมาณไม่เยอะไม่ถึงพันล้าน แต่ “เป๋าตัง” ยังคงเป็นตัวเลือกอยู่
เมื่อเวลา 09.20 น.วันที่ 23 เม.ย.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีสหภาพธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบที่กระทรวงการคลังเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) เพื่อขอให้ชี้แจงกรณี ที่จะนำเงินของธ.ก.ส.ไปใช้ในโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ตใน 5 ประเด็นว่า เมื่อวานได้นั่งพูดคุยกันและชี้แจงเรียบร้อยดี และก็เข้าใจตรงกัน ยืนยันว่าไม่มีปัญหา ซึ่งพวกเขาก็ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฏหมาย โดยทางคณะกรรมการฯ และกระทรวงการคลังก็ได้ตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อยแล้วยืนยันว่าทุกอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องการความมั่นใจ ว่ามีขั้นตอนทางกฏหมายอะไรที่รัฐบาลต้องทำ เช่นส่งให้ทางสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบซึ่งก็ต้องทำ
ส่วนได้กำหนดระยะเวลาให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะทุกอย่างมีระยะเวลาของมัน แต่อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าไม่มีความกังวล เพราะรัฐบาลมั่นใจ ว่าทุกอย่างทำตามกรอบกฏหมายชัดเจน
นายจุลพันธ์ ยืนยันถึง 5 ข้อสงสัยของสหภาพแรงงานธ.ก.ส.ว่า สามารถชี้แจงได้หมด รวมถึงแหล่งที่มาของเงิน ส่วนเรื่องของสภาพคล่องไม่น่าเป็นห่วง เพราะธ.ก.ส. สามารถบริหารจัดการได้ โดยกลไกปกติผ่านการบริหารจัดการของธนาคาร ส่วนการชำระเงินคืนก็เป็นไปตามกลไกของงบประมาณ ที่รัฐบาลจะต้องมีกลไกในการชำระคืน ตาม ม.28 ให้กับธ.ก.ส.ในแต่ละปี พร้อมยืนยันว่าส่วนตัวไม่กลัวว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมเพราะเมื่อวานได้พูดคุยกันเป็นไปอย่างเรียบร้อยดี และเข้าใจตรงกัน
เมื่อถามว่า ขณะนี้รัฐบาลเป็นหนี้ธ.ก.ส.อยู่ประมาณประมาณเท่าไหร่ นายจุลพรรณ ตอบว่า ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท ยืนยันว่าครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการกู้เงินของ ธ.ก.ส. มาทำนโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ต แต่เป็นการใช้กลไกผ่านงบประมาณและมาตรการการเงินการคลัง เพราะรัฐบาลกู้เงินธ.ก.ส.ไม่ได้ ทั้งนี้ได้ยืนยันไปทางสหภาพแรงงานธ.ก.ส. ไปใน 3 ประเด็นคือ กลไกทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฏหมาย และเสถียรภาพของธ.ก.ส. จะต้องแข็งแกร่ง พอรัฐบาลจะ มีนโยบายที่จะเพิ่มในเรื่องความแข็งแกร่งให้กับ ธ.ก.ส. และที่สำคัญรัฐบาลถือหุ้น 100% ไม่มีทางที่จะรัฐบาลจะปล่อยให้กลไกนี้สั่นไหว ขณะที่ปีนี้เป็นปีที่สำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องใช้ มาตรการตามมาตรา 28 ซึ่งทุกรัฐบาลก็ทำมากันตลอด เพราะเป็นกลไกที่จะเอื้อมมือไปหาเกษตร โดยไม่ขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ และสุดท้าย จะต้องไม่กระทบต่อสวัสดิการและสวัสดิภาพของพนักงานธ.ก.ส.
เมื่อถามว่า เกษตรกรสงสัยว่าทำไมถึงไม่ให้ใช้เงินในโครงการไปชำระหนี้เลย นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลยืนยันมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ว่าต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หากนำเงินไปใช้หนี้คืนให้กับธ.ก.ส. เป็นต้น ก็หมายความว่าเงินดังกล่าวจะกลับเข้ารัฐ ไม่เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวถามถึงระบบบล็อกเชน จะเข้ากับแอพพลิเคชั่นของรัฐได้อย่างไร เพราะไม่ได้เอื้อต่อธุรกรรมทางการเงิน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กำลังพัฒนา และดำเนินการอยู่ส่วนเรื่องแอพฯ “ทางรัฐ” ก็ได้มีการพูดคุยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นที่คาดหวังว่า จะสามารถอัพเกรดเป็นซุปเปอร์แอพฯ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จะเป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการดำเนินการพัฒนาระบบ เพื่อให้เชื่อมโยง ความเป็นรัฐทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแอพเดียวกัน เพื่อไปเป็นจุดเชื่อมในอนาคต เช่น ลูกค้าของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของอะไร จะสามารถมาเชื่อมกับระบบของรัฐ และสามารถเข้าสู่ระบบดิจิทัล วอลเล็ตได้ ยืนยันว่าการไปพัฒนาเรื่องนี้นั้นใช้งบประมาณไม่เยอะ ไม่ถึงพันล้านบาท และจะสามารถใช้ทันในไตรมาสที่ 4 ส่วนแอพ “เป๋าตัง” ก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือก ที่รัฐบาลก็กำลังดูอยู่