วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน“ส่งออก”มี.ค. ติดลบ 10.9% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน“ส่งออก”มี.ค. ติดลบ 10.9% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

“พาณิชย์”เผยตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ติดลบ 10.9% ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอน จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.9% กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้ถึง 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 892,290 ล้านบาท

โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอน จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

การนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.6% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 944,828 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 52,538 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลข 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ส่งออกมีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 188,014 ล้านบาท

โดยมาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.1% แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม

ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.3%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 12.3% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลด 0.3%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัว โดยตลาดหลัก ลด 9.1% จีนลดลง 9.7% ญี่ปุ่น 19.3% สหภาพยุโรป (27) 0.1% และอาเซียน (5) 26.1% แต่สหรัฐฯ เพิ่ม 2.5% และ CLMV เพิ่ม 0.5% ตลาดรองลดลง 4.3%

โดยหดตัวในเอเชียใต้ 6.1% ตะวันออกกลาง 7.3% แอฟริกา 11.9% ลาตินอเมริกา 10.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS 14.2% และสหราชอาณาจักร 19.3% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5% และตลาดอื่น ๆ ลด 82.3% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 87.3%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าขยายตัว  1-2  %  โดยคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนภาคการผลิตโลกยังคงทยอยฟื้นตัวส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อหาแนวทางลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img