วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightธ.ก.ส.จ่อชงครม. พักหนี้เกษตรกรรายย่อยเฟส 2
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ธ.ก.ส.จ่อชงครม. พักหนี้เกษตรกรรายย่อยเฟส 2

ธ.ก.ส. เดินหน้าโครงการพักหนี้เกษตรกรเฟส 2 เตรียมเสนอ ครม. ภายใน ต.ค. นี้ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 9 หมื่นล้าน ระดมเงินฝาก-สลากออมทรัพย์ 3.2 แสนล้าน ลดเอ็นพีแอลเหลือ 3.69%

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เตรียมประชุมคณะทำงานโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยที่กระทรวงการคลังวันที่ 15 พ.ย.นี้เพื่อหารือถึงแนวทางในการดำเนินโครงการเฟสที่ 2 ต่อไปว่าจะมีการปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเฟส 1

หลังโครงการเฟสแรกที่เข้าไปช่วยพักหนี้เกษตรกรที่มีหนี้สินคงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท จำนวน 2.1 ล้านราย วงเงินรวม 2.8 แสนล้านบาท ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1.8 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีเกษตกรที่ถือว่าเข้าร่วมโครงการพักหนี้แบบสมบูรณ์ ด้วยการทำข้อตกลงขยายเวลาประมาณ 1.4 ล้านราย หรือคิดเป็น 80% ของกลุ่มเป้าหมาย อยางไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปรายละเอียดโครงการพักหนี้เฟส 2 และสนอต่อที่ประชุม ครม. ได้ไม่เกินเดือน ต.ค. นี้

สำหรับแผนการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในรอบปีบัญชี 2567/2568 (1 เม.ย.2567-31 มี.ค.2568) ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มอีก 9 หมื่นล้านบาท หรือ เติบโต 5.13% จากงวดปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการผลิตภาคการเกษตรที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังผ่านพ้นการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว 2 ปี โดยเป้าหมายหลักในการปล่อยสินเชื่อปีนี้จะเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อต้องการให้เกษตรกรที่แข็งแรงมาช่วยพัฒนารายย่อย ส่วนที่เหลืออีก 4 หมื่นล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และปีนี้ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เช่น กรีน เครดิต, ฟอเรส เครดิต เพื่อส่งเสริมการปลูกป่า ฯลฯ

ส่วนเงินฝากตั้งเป้าที่จะระดมเงินฝากปีนี้เพิ่มอีกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือ เติบโต 7% จากงวดปีก่อน โดย ณ สิ้นปีบัญชี 2566/2567 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) ธนาคารมียอดสินเชื่ออยู่ 1.69 ล้านล้านบาท และเงินฝาก 1.89 ล้านล้านบาท หรือมีเงินฝากมากกว่าสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการดำรงสภาพคล่องเพื่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

ส่วนภารกิจในการช่วยดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารในปี 2509 ซึ่งจำนวนเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละปี

“โดยปกติทุกแบงก์เงินฝากจะมากกว่าเงินกู้ เป็นฐานของทุกแบงก์เพื่อความมั่นคง และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของเราก็ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ”

ด้านหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ธนาคารตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลในงวดสิ้นสุดปีบัญชี 2567/2568 (1 เม.ย.2567-31 มี.ค.2568) เหลือ 3.69% จากสิ้นปีบัญชี 2566/2567 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ 5.41% หรือ ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าถ้าการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามแผนที่เราคิดไว้ หนี้เสียจะลดลงได้ ประกอบกับธนาคารจะรีบเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาหนี้สินก่อนที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอล เพราะหากปล่อยให้กลายเป็นเอ็นพีแอลจะทำให้เกษตรกรเสียประโยชน์ในระยะยาว ทั้งดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เครดิตที่มีก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่

ขณะเดียวกันในช่วงกลางปีนี้จะมีสลาก ธ.ก.ส. ครบกำหนดอีก 2 ชุด ได้แก่ สลากมั่งมีทวีโชคและสลากเกษตรมั่งคั่ง วงเงินรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับการระดมเงินฝากตามแผนงานปกติอีก 1.2 แสนล้านบาท เท่ากับว่าปีนี้ธนาคารต้องระดมทุนรวม 3.2 แสนล้านบาท

“เงินฝากของเกษตรกร ส่วนราชการ ประชาชนอยู่กับเราเยอะ เรียกว่าเป็นเงินฝากต้นทุนต่ำ (casa) ประมาณ 55% เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นสถาบันการเงินของรัฐ รัฐบาลค้ำประกัน 100% จึงมาฝากกับเราเยอะ อย่างที่เราออกสลาก ธ.ก.ส. ชุดถุงทอง รางวัลที่ 1 มูลค่า 60 ล้าน ใช้เวลาแค่ประมาณ 5 เดือน สามารถระดมเงินใหม่เข้ามาได้แสนล้าน”

รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังกล่าวถึง อีกหนึ่งโครงการของ ธ.ก.ส. ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือ “โครงการล้านละร้อย” วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ที่ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรการเกษตร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงแค่ 0.01% ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยเริ่มต้นโครงการครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าชุมชนฐานรากต้องการได้รับการส่งเสริมเรื่องของแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนที่มีแรงมีไอเดียเป็นหัวขบวนในการดึงพี่น้องเกษตรกรที่เป็นรายย่อยเข้ามาร่วมขบวนเพื่อร่วมกันทำธุรกิจชุมชนเพื่อขยับเศรษฐกิจฐานรากให้โตขึ้น

โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยชดเชยดอกเบี้ยและ ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ยให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งโครงการในระยะที่ 1 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วประมาณ 2-3 พันราย วงเงินเฉลี่ย 3-5 ล้านบาทต่อราย คิดเป็นวงเงินรวมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

และ ครม. ได้อนุมัติโครงการระยะที่ 2 เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 1 พันราย คิดเป็นวงเงินรวมอีก 5.8 พันล้านบาท เท่ากับว่ายังเหลือวงเงินอีกประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำหรับเกษตรกรหัวขบวนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2568

”โครงการล้านละร้อยได้รับความสนใจอย่างมากเพราะดอกเบี้ยถูกจริงๆ แต่คนที่มาขอต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีลูกทีมที่จะเข้ามาสนับสนุน โดยจะมีคณะกรรมการสินเชื่อ คือ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ในแต่ละจังหวัดและคณะเป็นผู้พิจารณา“

ทั้งนี้ สำหรับโครงการในระยะที่ 2 ได้มีข้อเสนอแนะจากคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตประธานบอร์ด ธ.ก.ส. ให้เพิ่มวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ต้องเป็นโครงการที่ส่งเสริมเรื่องของ BCG และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการเฟสที่ 1 และอยากต่อเฟส 2 มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าต้องเป็นโครงการใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเดิม หรือ เป็นการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการเดิม

โดยที่ผ่านมาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของโครงการอยู่ในระดับที่ต่ำมากเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น ขณะที่ในเฟส 2 ยังไม่มีเอ็นพีแอลเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมที่จะขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อขยายโครงการในเฟสที่ 3 ต่อไป หากวงเงินที่เหลืออยู่หมดลง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img