ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนเม.ย.67 เท่ากับ 108.16 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ผลน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 108.16 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.47 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2566 (2) ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด และขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ (3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ (4) ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และ (5) ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการบางชนิดยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำ และ (2) การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการแข่งขันและใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0-1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง