“สุรพล” เผยหนี้เสียบัตรเครดิตพุ่งเสี่ยงตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล 1.9 แสนใบคิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท หลังแบงก์ชาติปรับจ่ายขั้นต่ำเพิ่มเป็น 8% จากเดิม 5% ขณะที่ค่าครองชีพ-รายได้ทรุด
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากเครดิตบูโรในไตรมาสที่ 1 ปี 67 พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ที่มีการปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตมาอยู่ที่ 8% ต่อปี จาก 5% ต่อปี ทำให้การจ่ายหนี้คนไทยมีปัญหา หนี้ใกล้จะเสีย หรือค้างชำระ 30-90 วัน (เอสเอ็ม) มีมากถึง 1.9 แสนใบ คิดเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 32.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแค่ 3 เดือนแรกของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตสูงอย่างก้าวกระโดด ถ้าเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 66 หนี้เอสเอ็มเติบโตถึง 20.6% ทำให้เป็นเรื่องต้องระมัดระวังอย่างมากว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบตัวเลขสิ้น มี.ค. 67 ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 24 ล้านใบ คิดเป็น 5.5 แสนล้านบาท เติบโต 3.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถ้าเทียบไตรมาสก่อนหน้าหดตัวติดลบ 5.1% ส่วนตัวเลขบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นเอ็นพีแอล หรือค้างชำระเกิน 90 วัน มีสูงกว่า 1 ล้านใบ คิดเป็นยอดหนี้ 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสาเหตุหนี้ใกล้จะเสียและหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีปัญหาจากค่าครองชีพที่สูง และรายได้ไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจเปราะบาง สะท้อนว่าชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น
นายสุรพล กล่าวว่า หนี้ใกล้จะเสียเอสเอ็มกว่า 1.9 แสนใบ หากดูจากข้อมูล พบว่า มีหนี้ที่เปิดมาไม่เกิน 2 ปี มีจำนวน 3.6 หมื่นใบ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเจนวาย 2.3 หมื่นใบ, เปิดมามากกว่า 2 ปีแต่ไม่เกิน 4 ปีมีจำนวน 3.9 หมื่นใบ เป็นกลุ่มเจนวาย 2.7 หมื่นใบ และกลุ่มเจนเอกซ์ 9,200 ใบ, เปิดมามากกว่า 4 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี มีจำนวน 4.5 หมื่นใบ เป็นกลุ่มเจนวาย 3 หมื่นใบ และเจนเอกซ์ 1.2 หมื่นใบ
“คำถามตัวโตๆ คือหนี้เอสเอ็ม จะไหลต่อเป็นหนี้เสียเอ็นพีแอลอีกเท่าไร การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% และจะเป็น 10% ต่อปีในปี 68 ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงๆ หรือไม่ ตามเป้าประสงค์มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งความจริงคนมีบัตรเครดิตได้หลายใบ การเพิ่มอีก 3% ของยอดหนี้ในแต่ละใบ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายหนี้ได้ และประการสุดท้ายค่าใช้จ่ายทั้งหลายเริ่มเพิ่มอย่างชัดเจน เช่น ไข่ไก่ ผักบางชนิด น้ำมันก็เริ่มขยับ เป็นต้น”