วันศุกร์, มิถุนายน 28, 2024
หน้าแรกHighlight"เงินบาทพลิกอ่อนค่า" เฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทพลิกอ่อนค่า” เฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็ง แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น-เฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย



นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.13 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.10-36.25 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนทดสอบระดับแนวต้านระยะสั้นแถว 155.50 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มไม่แน่ใจว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในปีนี้ หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากกว่าคาดในไตรมาสแรกของปีนี้

อีกทั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ยังคงย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจน นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาทก็สอดคล้องกับที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวแถวโซน 36.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับหลัก 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง หลังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างมีนัยสำคัญ โดยบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ได้ย่อตัวลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไร อาทิ Meta -1.7% ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของ Walmart +7.0% ก็พอช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกได้บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.21%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% กดดันโดยการประกาศจ่ายเงินปันผลและขึ้นเครื่องหมาย XD ของบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ BMW -6.3%, BP -1.5% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าคาดของทาง Siemens -6.8% ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปได้บ้าง ทั้งนี้ โดยรวมตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด

ด้านตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นบ้างเล็กน้อย สู่ระดับ 4.38% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกันบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ยังคงส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็สอดคล้องกับที่เราประเมินไว้ว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงาน ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าคาด ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ โดยเราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หนนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากการทยอยปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในปีนี้ ตามรายงาน GDP ไตรมาสแรกของญี่ปุ่นที่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 104.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.4-104.6 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เพิ่มเติม อีกทั้ง เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีการรีบาวด์กลับขึ้นมาบ้าง ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายกดดันให้ย่อตัวลงสู่โซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน ทั้งยอดค้าปลีก ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ส่วนในฝั่งยุโรป รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนเมษายน ก็จะเป็นข้อมูลที่ตลาดต่างรอลุ้น เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง ทำให้ เงินบาทเริ่มแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า การแข็งค่าหลุดโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันนั้น อาจทำให้ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นและแกว่งตัว sideways หลังจากนั้นได้บ้าง และหากมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ากลับเข้ามา เงินบาทก็อาจผันผวนกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้บ้าง

ซึ่งต้องจับตาแนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงกลับไปทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ โดยเรามองว่า ปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในระยะสั้น อาจต้องรอจับตาทิศทางเงินหยวนจีน หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน รวมถึงรอลุ้น รายงาน GDP ไตรมาสแรกของไทย ในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาทต่อดอลลาร์

    

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img