ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการสหรัฐออกมาดีกว่าคาด หนุนดอลลาร์แข็งค่า-กดราคาทองคำร่วง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.54 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.47-36.66 บาทต่อดอลลาร์) ตามที่เราได้ประเมินความเสี่ยงเอาไว้ ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.65 บาทต่อดอลลาร์ หากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาดจริง
โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 50.9 จุด และ 54.8 จุด ตามลำดับ ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ก็ลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.15 แสนราย โดยภาพดังกล่าวได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงหนักกว่า -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กดดันให้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างกังวลว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน และเลือกที่จะเทขายบรรดาหุ้นสไตล์ Growth รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Tesla -3.5%, Apple -2.1% ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จาก Nvidia +9.3% หลังรายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.74%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.07% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML +2.6% หลัง Nvidia รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย หลังรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ ออกมาดีกว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเกือบแตะระดับ 4.50% หลังดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global ในเดือนพฤษภาคม ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องกับมุมมองของเราว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ราว 3-4 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเน้นรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่กลับมากดดันตลาดการเงินอีกครั้ง จากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 105 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.6-105.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ดิ่งลงสู่โซน 2,330-2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ในเดือนเมษายน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับ รายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวพอสมควร นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะถัดไป
ส่วนในฝั่งอังกฤษ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนเมษายน จะเป็นข้อมูลที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา ยังมีโอกาสที่จะดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะหลังเงินบาทได้อ่อนค่าลงทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน แถวโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง พบว่าหากเงินบาทยังอยู่ในการแกว่งตัวแบบ sideways ก็สามารถอ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ได้ราว 20 สตางค์ นอกจากนี้เงินบาทก็ยังมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจมีแนวโน้มเป็นการขายสุทธิได้ หลังบรรยากาศในตลาดพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยเราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้
สำหรับเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นมาได้บ้างมองว่า ยังติดโซนแนวรับแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้เล่นในตลาดซึ่งปัจจุบันต่างก็กังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น โดยเราคาดว่า อาจจะต้องรอจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน เพื่อให้ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ถึงจะเห็นการแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเงินบาทได้อีกครั้ง แต่ต้องลุ้นให้ ข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอตัวลงมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาทค่อดอลลาร์