ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังตัวเลขยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP สหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.แย่กว่าคาด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.56-36.73 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +20 ดอลลาร์ จากรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ที่ลดลงต่อเนื่องและออกมาแย่กว่าคาด
นอกจากนี้ ดัชนีย่อยการจ้างงาน (Employment) ในภาคการบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนพฤษภาคม ก็ยังอยู่ในระดับ 47.1 จุด สะท้อนถึงภาวะการจ้างงานที่หดตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสถึง 94% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool) อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้แข็งค่าลงมาก เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.8 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควร
สำหรับบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและกลับมาเชื่อว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Nvidia +5.2%, Meta +3.8% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.96% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.18%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.81% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นในธีม Semiconductor/AI อย่าง ASML +8.1% หลังผู้บริหารออกมาระบุว่ายอดสั่งซื้อจากคู่ค้ามีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสถัดๆ ไป ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทำให้โดยรวมผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ในส่วนตลาดบอนด์ ความหวังของบรรดาผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.28% อย่างไรก็ดี เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ ออกมาดีกว่าคาด แต่ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะที่อ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.5 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง อนึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงเวลาประมาณ 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference หลังรับรู้ผลการประชุม ECB โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ลง -25bps สู่ระดับ 3.75% และอาจมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ (ตลาดคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการลดดอกเบี้ยในการประชุมรายไตรมาส)และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง คาดการณ์ GDP ในไตรมาสที่สอง โดย Atlanta Fed (GDPNow)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอยู่แถวโซนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB โดยเราประเมินว่า ภาพตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น อาจช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทำให้แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอาจลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าไปได้มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในช่วงโซน 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งต้องระวังความผันผวนจากข่าวการเมืองในประเทศ (ซึ่งรวมถึงข่าวที่สะท้อนถึงความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงิน) ดังจะเห็นได้จากวันก่อนหน้าที่เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จากข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลอาจต้องการควบคุมการทำงานของธปท. มากขึ้น
ทั้งนี้มองว่า ประเด็นดังกล่าวรวมถึงความวุ่นวายของการเมืองไทยจะเป็นเพียงแค่ Noise ในระยะสั้น ที่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่เราจะคอยจับตาความเสี่ยงการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB โดยปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน คือ มุมมองของ ECB ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ECB จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องได้หรือไม่ ซึ่งหาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจน ว่ามีโอกาสจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง หรือมากกว่า ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ในทางกลับกัน หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง และการลดดอกเบี้ยจะขึ้นกับการประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงการประชุมนั้นๆ เราคาดว่า เงินยูโร (EUR) ก็อาจแกว่งตัว sideways หรือแข็งค่าขึ้นบ้าง เพราะอย่างน้อย การลดดอกเบี้ยของ ECB ที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ก็เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ไปแล้ว (fully priced-in) ทำให้ประเด็นสำคัญ คือ แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายหลังจากการประชุมในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.45-36.75 บาทต่อดอลลาร์