วันศุกร์, มิถุนายน 28, 2024
หน้าแรกHighlightธปท.-สศช.เตือนรัฐตั้งงบประมาณเพิ่มแจกเงินดิจิทัลเสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ธปท.-สศช.เตือนรัฐตั้งงบประมาณเพิ่มแจกเงินดิจิทัลเสี่ยงหนี้สาธารณะพุ่ง

ธปท.หวั่นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ เสี่ยงกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง ทั้งหนี้สาธารณะ-ภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ด้านสศช.กังวลกระทบความเชื่อมั่นวูบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมครม. เพื่อประกอบการพิจารณาวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล

โดยในส่วนของธปท.นั้น นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินได้เสนอความเห็นแทนผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งมีรายละเอียดว่า ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ที่สำนักงบประมาณเสนอ แต่การจัดทำงบประมาณฯ ต้องเป็นไปตามมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐปี 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงิน ระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ รวมถึงต้อง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน

อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงดำเนินนโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้รัฐบาลเท่าที่จำเป็น

ด้าน สศช. ตั้งข้อสังเกตว่า วงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งผลให้ ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและพื้นที่ทางการคลังลดลงในช่วง ปีงบประมาณ 2567-2568 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ  และในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรเร่งเบิกจ่ายให้เม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และ ปีงบประมาณ 2568 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลังในช่วงถัดไป โดยการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ย

ทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อยืนนาน และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า ไม่ขัดข้องหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ตามที่เห็นสมควร

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img