วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“สุริยะ”จ่อขยายสัญญาสัมปทานให้BEM แลกลดค่าผ่านทาง-สร้างทางด่วนขั้นที่2
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สุริยะ”จ่อขยายสัญญาสัมปทานให้BEM แลกลดค่าผ่านทาง-สร้างทางด่วนขั้นที่2

“สุริยะ” เล็งขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ให้ “BEM” ไปอีก 22 ปี 5 เดือน แลกลดค่าผ่านทาง -ลงทุนก่อสร้างทางพิเศษยกระดับขั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เงินลงทุน 3 หมื่นกว่าล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่สั่งการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปรับลดค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ซึ่งมีด่านเก็บค่าผ่านทางหลายแห่ง และประชาชนต้องเสียค่าผ่านทางในอัตราที่สูง 85-90 บาทขอให้หาแนวทางปรับลดเหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดเส้นทางนั้น กทพ. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชนคู่สัญญาคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM คาดว่าจะเห็นความชัดเจน และเริ่มให้ประชาชนจ่ายค่าทางด่วนถูกลงภายในปี 2567 ซึ่งการลดค่าทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย ของทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน -พระราม 9 ทาง กทพ.จะมีการประเมินทุก ๆ 10 ปี เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ตามสถานการณ์

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัด บนทางด่วนสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 และภาพรวมในบริเวณดังกล่าว จึงผลักดันก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 หรือ Double Deck วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรที่ติดขัดอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ได้ศึกษาแนวทางที่สามารถลดการจัดใช้งบประมาณภาครัฐในการก่อสร้างโครงการ โดยได้เจรจากับเอกชนคู่สัญญาบริหารทางด่วนช่วงดังกล่าวให้เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งหากภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเองก็อาจจะกระทบต่อทางด่วนที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว

ทั้งนี้กทพ.ศึกษาการเจรจากับเอกชนเพื่อดำเนินการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยนโยบายปัจจุบันที่กระทรวงฯ ต้องการลดค่าครองชีพประชาชนในส่วนของค่าผ่านทางให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย ทำให้มีการศึกษาเงื่อนไขเจรจากับเอกชนขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน เพิ่มเติมจากสัญญาปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในปี 2578 เป็นสิ้นสุดในปี 2601

โดยระยะเวลาสัญญาที่เพิ่มมานั้นมาจากการคำนวณทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (Equity IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ซึ่งยืนยันได้ว่าจะไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีการก่อสร้าง คาดใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อไป

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า ค่าผ่านทางใหม่ที่ กทพ.ศึกษาจะปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25-90 บาท โดยจะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท

สำหรับผลการเจรจากับเอกชนในการปรับลดค่าผ่านทางนั้น เอกชนประเมินว่าอาจสูญเสียรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง กทพ.จะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่หายไป ดังนั้นนอกจากการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนแล้ว กทพ.ยังเจรจาปรับเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ให้เอกชน จากปัจจุบัน กทพ.จัดเก็บรายได้ 60% และเอกชน 40% ปรับเป็น กทพ.และเอกชนแบ่งรายได้เท่ากันในสัดส่วนฝ่ายละ 50%

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img