“3 หน่วยงานรัฐ” ออกแถลงการณ์ขับเคลื่อน “ตลาดทุน” เตรียมชงครม.ไฟเขียวปรับเงื่อนไขกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี ThaiESG 3 แสนบาทถือครอง 5 ปี หวังส่งเสริมการออม ผ่านการลงทุนในตลาดทุน เล็งปัดฝุ่นกองทุนวายุภักษ์
กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมแถลงมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือการปรับเงื่อนไขกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีในปัจจุบันคือ ThaiESG ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสงเสริมให้เกิดการออม ผ่านการลงทุนในตลาดทุน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ระดมทุนให้ความสำคัญกบความยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องที่จะเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อปรับเงื่อนไข ThaiESG ด้วยการขยายวงเงินการนำวงเงินลงทุนไปขอลดหย่อนภาษีเงินได้ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ จากเดิม 8 ปี นอกจากนั้น ยังปรับเพิ่มประเภทหุ้นยั่งยืนที่ ThaiESG สามารถเข้าไปลงทุนได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนหุ้นอีกราว 200 หุ้น จากเงื่อนไขเดิมที่มีจำนวนหุ้นราว 128 หุ้น
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กองทุน ThaiESG ที่เปิดขายเมื่อปลายปีที่แล้วเพียง 1 เดือน สามารถระดมเม็ดเงินได้ราว 6 พันล้านบาท แต่หลังจากการปรับเงื่อนไข ThaiESG ใหม่ในครั้งนี้จะทำให้มีเวลาเปิดขายหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 เดือน จึงเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาสู่ตลาดทุนมากขึ้น
“จากความสำเร็จของกองสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผ่านมา นำมาปรับเงื่อนไขกองสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีในปัจจุบัน คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund : TESG fund) ให้มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้าง positive impact ทั้งการออม การให้แรงจูงใจผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน”
นายพิชัย ชุนหวชิร รมว.คลัง กล่าวว่า ภาครัฐยังศึกษาความสำเร็จของกองทุนรูปแบบอื่น อาทิ กองทุนวายุภักษ์ เข้ามาเสริมสร้างกลไกการออม การลงทุนให้กับประชาชนผ่านรูปแบบการลงทุนร่วมของภาครัฐ และการมีโครงสร้างผลตอบที่มีขั้นต่ำ ขั้นสูง การกำหนดลำดับของสิทธิการได้รับผลตอบแทนที่จะรองรับกลุ่มของผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกันอีกด้วย ร่วมกับการขับเคลื่อนและผลักดันการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะอื่น ๆ เช่น การจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ในอนาคต และการพัฒนา Exchange-Traded Fund (ETF) รวมทั้งบัญชีส่วนบุคคลเพื่อการลงทุนระยะยาว (Individual Saving Account) ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
นอกจากจะส่งเสริมเม็ดเงินที่จะเข้ามาสู่ตลาดทุนแล้ว ทั้งเดินหน้ามาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เพราะมาตรการขับเคลื่อนการลงทุนจะต้องควบคู่กับการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายในปัจจุบัน ทั้งจากการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก.ล.ต. ร่วมกับ ตลท.และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) จึงผลักดันมาตรการต่าง ๆ และเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการที่คำนึงถึงผลกระทบในหลายด้านอย่างรอบคอบ และให้มีการดำเนินการอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการได้ต้นเดือน ก.ล.ต.67
นอกจากนั้นยังจะมีมาตรการต่าง ๆ ตามออกมาอย่างต่อเนื่องตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เช่น มาตรการเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น และเพิ่มมาตรการ Auction หุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย คาดว่าจะบังคับใช้ปลายเดือน ส.ค.67 , มาตรการกำหนดวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนที่จะสามารถยกเลิกได้ Minimum Resting Time อยู่ที่ 250 Millisecond และการเพิ่มคุณภาพการตรวจสอบ บล.ทั้งการทำ KYP การตรวจสอบหุ้นก่อนส่งคำสั่ง ธุรกรรม short / long sell คาดจะบังคับใช้ไตรมาส 3/67 , Auto Halt หุ้นรายตัว ไตรมาส 1/68 ,เพิ่มโทษสมาชิกกรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การขายชอร์ตและโปรแกรมเทรด ในไตรมาส 3/67
ก.ล.ต. และ ตลท.จะติดตามผลของการดำเนินการและมีการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้มั่นใจว่า พฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Misconduct) เมื่อเกิดขึ้นจะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และระดับความรุนแรงของความผิดจะสูงขึ้นจากมาตรการที่ขับเคลื่อนครั้งนี้ รวมทั้งการกำหนดปรับปรุงค่าปรับจากการกระทำผิดที่สูงขึ้นและการปรับแก้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องปรามการกระทำที่ไม่เหมาะสม