วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightชงบอร์ดกทพ.วันนี้เคาะ‘อิตาเลียนไทย’ คว้าประมูลทางด่วน‘จตุโชติ-ลำลูกกา’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ชงบอร์ดกทพ.วันนี้เคาะ‘อิตาเลียนไทย’ คว้าประมูลทางด่วน‘จตุโชติ-ลำลูกกา’

ประชุมบอร์ดกทพ.วันนี้ คาด “อิตาเลียนไทย” คว้าประมูลสร้างทางด่วนใหม่ สายจตุโชติ-ลำลูกกา 1.87 หมื่นล้าน เตรียมลงนามสัญญาปลายปีนี้กางแผนก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 71

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางด่วนช่วงจตุโชติ-ลำลูกกาว่า กทพ. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประมูล และข้อเสนอของผู้ประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอรายชื่อผู้ชนะการประมูลต่อคณะกรรมการบอร์ด กทพ.ในวันนี้ (25 มิ.ย.) หากบอร์ดเห็นชอบ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในปลายปีนี้ และเร่งรัดส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้างในเดือน มิ.ย.68 โดยโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี ก่อนเปิดให้บริการในปี71

ทั้งนี้หลังจากกทพ. ได้เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร โดยกำหนดยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทยื่นข้อเสนอ 4 ราย ได้แก่

1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

4.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า อิตาเลียนไทยเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยหากบอร์ดเห็นชอบผลการประมูล กทพ.จึงจะสามารถประกาศผลผู้ชนะประมูลได้ พร้อมต้องดูด้วยว่าจะมีผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลหรือไม่ ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการ

สำหรับการเตรียมความพร้อมส่งมอบพื้นที่ ปัจจุบันครม. ได้อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตเวนคืนที่ดินแล้ว หลังจากนี้จะเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป จึงมั่นใจภายหลังลงนามสัญญาแล้วเสร็จ กทพ.จะสามารถเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ได้ตามเป้าหมาย

โดยรายละเอียดของโครงการทางด่วนช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร มีวงเงินงานโยธา 1.87 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าเวนคืนที่ดินคาดการณ์ 3.72 พันล้านบาท โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนมีที่ดินจำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 134 หลัง ขณะที่แหล่งเงินทุนในส่วนการก่อสร้าง กทพ.จะจัดใช้วงเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่มีอยู่แล้ว 14,374 ล้านบาท และใช้เงินกู้ 5,960 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กทพ.มีเป้าหมายพัฒนาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา

โดยโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เบื้องต้น กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน กำหนดอัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img