“กรมศุลกากร” เตรียมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท มีผลวันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยเปิดตู้ตรวจสินค้านำเข้าด้วยการเอ็กซ์เรย์ 100%
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยออกเป็นประกาศกฎกระทรวงให้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บ ซึ่งจะเป็นมาตรการเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว ระหว่างรอกรมสรรพาแก้ไขมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร
“โดยหลักการของกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ต้องการมุ่งเน้นเรื่องรายได้เป็นหลัก เพียงแต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสินค้าที่ผลิตในไทยเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ทั้งยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ส่งผลต่อการแข่งขันด้านกำไร ขณะที่สินค้านำเข้าบางรายการได้รับการยกเว้นทำให้เกิดแต้มต่อทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายนี้ออกมา ซึ่งจะมีการเปิดตู้ตรวจสินค้านำเข้าโดยการเอ็กซ์เรย์ 100%
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมฯ จะจัดเก็บภาษีส่วนนี้เป็นการชั่วคราวไปก่อนจนถึงสิ้นปี เพื่อรอจนกว่าสรรพากรจะแก้ไขกฎหมายเสร็จ โดยเชื่อว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จะไม่สร้างภาระให้กับประชาชนหรือผู้บริโภค เนื่องจากจะเป็นการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทขนส่ง โดยไม่ได้ไปเรียกเก็บกับประชาชนที่สั่งซื้อของโดยตรงยกเว้นกรณีสินค้าที่มีการจัดส่งทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ที่จะมีการออกใบสำหรับจ่ายภาษีเพิ่มเติม ซึ่งผู้ซื้อสามารถสแกนจ่ายภาษีกับบุรุษไปรษณีย์เพิ่มเติมและรับของไปได้เลย ซึ่งกลุ่มนี้จะมีปริมาณไม่มากนัก ส่วนสินค้าที่มีการจัดส่งผ่านขนส่งเอกชน ซึ่งเป็นสินค้าเกือบทั้งหมด ประชาชนไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะกรมศุลฯ จะเรียกเก็บจากผู้ขนส่ง ซึ่งผู้ขนส่งจะไปเรียกเก็บผู้ประกอบการต่ออีกที
โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 (ต.ค.66-พ.ค.67) ปริมาณนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท อยู่ประมาณ 89 ล้านชิ้น มูลค่าประมาณ 26,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าว 30,000 ล้านบาท คาดว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจะสร้างรายได้ให้รัฐเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ที่นำเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งทางรถบรรทุกจากจีน เข้ามาด่านมุกดาหารมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือด่านนครพนม
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี และโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยหลักกการผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม จะเป็นผู้จัดเก็บและนำส่งภาษีมาให้โดยตรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับบริการ (VES) ที่กรมฯ ได้ออกกฏหมายจัดเก็บไปก่อนหน้านี้ แต่รายละเอียดอาจมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น สินค้าอาจมีการคืนจึงต้องมีการคุยลงรายละเอียดกัน