ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.15 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า” แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำหลัง ราคาทองคำรีบาวด์ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลุ้นรายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Tesla และ Alphabet
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.15 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.14-36.24 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยก็ตาม แต่เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ทยอยรีบาวด์ขึ้น จากโซนแนวรับแถว 2,380-2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนแนวต้านระยะสั้นในช่วง 2,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (โฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อน)
อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงแกว่งตัวแถวโซน 36.10-36.15 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดบางส่วน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ และโฟลว์ธุรกรรมขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนตั้งแต่ช่วงวันก่อนหน้า
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Tesla และ Alphabet ที่จะประกาศในช่วง After Market Hours นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ก็ยังออกมาไม่สดใสนัก อาทิ UPS, Comcast และ GM ต่างรายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นบ้าง +0.13% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ โดยเฉพาะ SAP +7.2% ที่รายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ซึ่งพอช่วยลดทอนผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Shell -1.7%, Rio Tinto -1.5% ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบและแร่โลหะพื้นฐานส่วนใหญ่ จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงข่าวความคืบหน้าการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา
ในส่วนตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวโดยรวมของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะ sideways ไม่ต่างจากที่เราประเมินไว้ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถว 4.25% โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ในสัปดาห์นี้ ก็จะมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผลการประชุมเฟด 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน-ต้นเดือนหน้า อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หนุนโดยท่าทีระมัดระวังตัวของบรรดาผู้เล่นในตลาดและจังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่โซน 104.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.3-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,410 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ในฝั่งญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ระหว่างเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน (โซน 36.40 บาทต่อดอลลาร์) กับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (โซน 36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทว่า เงินบาทก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ควรจะออกมาแย่กว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ หรือ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-On)
นอกจากนี้เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบ และโฟลว์ธุรกรรมขายสินทรัพย์ไทยในช่วงนี้ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมเงินบาทก็ยังคงมีโซนแนวต้านแถว 36.35-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทก็อาจอยู่ในช่วง 36.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาทต่อดอลลาร์