วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“ส่งออก”มิ.ย.ติดลบ 0.3% รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจคู่ค้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส่งออก”มิ.ย.ติดลบ 0.3% รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจคู่ค้า

“พาณิชย์” ประกาศตัวเลข “ส่งออก” มิ.ย.หดตัว 0.3% จากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจคู่ค้า แต่ต้องจับตาบรรยากาศการค้าโลก โดยเฉพาะการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า-ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 892,766 ล้านบาท หดตัว 0.3% กลับมาหดตัวเล็กน้อย จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การนำเข้าเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3% ดุลการค้า เกินดุล 218 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ นอกจากนี้ ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯ หดตัวลงอย่างชัดเจน

สำหรับภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3 % ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.1%

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.3 (YoY) กลับมาหดตัวในรอบ3 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 2.2% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 4.8 %กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 96.6% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และโกตดิวัวร์) ยางพารา ขยายตัว 28.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) ไก่แปรรูป ขยายตัวร้ 4% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 13.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อิตาลี และฟิลิปปินส์)

ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 6% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 147.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา อิตาลี และเวียดนาม)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 37.8% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร) น้ำตาลทราย หดตัว 51.9% หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ลาว และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา แทนซาเนีย เวียดนาม เคนยา และจีน) เครื่องดื่ม หดตัว 9.5% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา จีน และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย) และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัว 13.4% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักรแต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาซิโดเนีย และคูเวต) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.3%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าขยายตัว 0.3%(YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.5 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 22% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 7.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม และเมียนมา) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และเมียนมา)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 7.9 %หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล) เม็ดพลาสติก หดตัว 6.3% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน)

เคมีภัณฑ์ หดตัว 5.5% หดตัวต่อเนื่อง 26 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 21.4% หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีนแต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และลาว) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัว 24.2%หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เมียนมา และลาว แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย จีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัว 54.2% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บราซิล กัมพูชา และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2%

ภาพรวมการส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐฯ CLMV ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ 1.ตลาดหลัก หดตัว 1.3% ตามการหดตัวของการส่งออกไปตลาดจีน 12.3 % ญี่ปุ่น 1.3% และอาเซียน (5) 2% แต่ขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ 5.4% และ CLMV 7.6% ตามลำดับ และกลับมาขยายตัวในตลาดสหภาพยุโรป (27) 7.9% 2.ตลาดรอง ขยายตัว 2.5% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 9.3% ตะวันออกกลาง 16.1% แอฟริกา 25.1% ลาตินอเมริกา 30.5% ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.5% รัสเซียและกลุ่ม CIS 20.7% และสหราชอาณาจักร 20% 3.ตลาดอื่ ๆ หดตัว 15%

การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปในเดือนมิถุนายน อาทิ 1.การหารือเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยขอให้ญี่ปุ่นเพิ่มรายการนำเข้าสินค้ากล้วยหอมทอง และลดภาษีน้ำตาลทราย พร้อมกันนี้ยังได้ชักชวนนักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และพลังงานสะอาด มาลงทุนในไทยและในพื้นที่ EEC

2.การนำผู้ประกอบการข้าวไทยเดินทางเยือนจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยกรมการค้าต่างประเทศนำสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางเยือนเมืองกวางโจวเพื่อพบปะผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าข้าวในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการค้าข้าว พร้อมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย แสดงศักยภาพในฐานะผู้ส่งออกข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก และมีแผนที่จะใช้อินฟลูเอนเซอร์ และบล็อกเกอร์ มาช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางยอดนิยมของกลุ่มคนวัยรุ่นจีนอย่าง TikTok หรือ WeChat Channel

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายโดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img