ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” ในรอบ 4 เดือนกว่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเดือนก.ย.นี้-นักลงทุนเทขายทองคำทำกำไรต่อเนื่อง เกาะติดผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” ในรอบ 4 เดือนกว่า จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.48-35.69 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการส่งสัญญาณของประธานเฟดในช่วง Press Conference ที่ระบุว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนกันยายนนั้น อาจเกิดขึ้นได้ หากแนวโน้มการชะลอลงของทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา ยังคงดำเนินต่อไป
โดยมุมมองดังกล่าวของประธานเฟดยังคงทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสราว 78% ที่จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์แถว 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้)
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Nvidia +12.8% ซึ่งได้อานิสงส์จากการรายงานคาดการณ์ยอดขายชิป AI ของ AMD +4.4% (คู่แข่ง Nvidia) ที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากผลการประชุมเฟดล่าสุด ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.64%% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.58%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.80% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML +5.6% จากรายงานข่าวว่า ASML อาจได้รับการยกเว้นจากข้อจำกัดของทางการสหรัฐฯ ในการส่งออกชิปไปยังจีน
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และ เฟดก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด ทว่า ท่าทีของประธานเฟดที่ดูเหมือนจะส่งสัญญาณว่า เฟดก็พร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายน ก็ทำให้ผู้เล่นต่างยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.05%
อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับ 4% ได้อย่างชัดเจน หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดราว 3 ครั้งในปีนี้ ไปพอสมควรแล้ว และมีโอกาสที่อาจเห็นการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง หากตลาดเริ่มกลับมากังวลประเด็นการเมืองสหรัฐฯ หรือ ปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเราคงมองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อได้เช่นกัน (Risk-Reward ยังดูมีความคุ้มค่าอยู่)
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามท่าทีของประธานเฟดที่ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนได้ หากแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.4 จุด)
ส่วนราคาทองคำ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้นในช่วงนี้ และได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนของประธานเฟด ทำให้โดยรวมราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,490 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 5.00% และอาจส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องได้ ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม โดยเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญกับ รายงานภาวะการจ้างงานในภาคการผลิต จากรายงานดัชนี PMI ดังกล่าว เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Amazon และ Apple) จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท มองว่าโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) หรือ Stop Loss ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผลการประชุม BOJ มีความ Hawkish มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (BOJ ขึ้นดอกเบี้ย และลดปริมาณการซื้อบอนด์ พร้อมส่งสัญญาณ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม)
นอกจากนี้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ก็ยังส่งสัญญาณว่า เฟดมีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้ เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ อาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังตลาดได้รับรู้และคาดหวัง แนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ ไปมากแล้ว และหากการประชุม BOE ในวันนี้ มีการลดดอกเบี้ยจริงตามคาด
อีกทั้ง BOE ก็ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทำให้เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวชัดเจน ก็อาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ซึ่งมองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ ในเชิงเทคนิคัลอาจทำให้เงินบาท (USDTHB) เข้าสู่โซน RSI Oversold ทำให้มีโอกาสที่อาจเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้างของเงินบาทในระยะสั้น หากตลาดรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม สำหรับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราประเมินใหม่ว่า แนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาแถวโซน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับเงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)