วันจันทร์, กันยายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเงินบาทเปิดตลาด 35.61 บาทต่อดอลลาร์-จับตาตลาดแรงงานสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทเปิดตลาด 35.61 บาทต่อดอลลาร์-จับตาตลาดแรงงานสหรัฐฯ

เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด-ราคาทองคำรีบาวด์ ไฮไลท์วันนี้จับตาตลาดแรงงานสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ใกล้โซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อน (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.63 บาทต่อดอลลาร์)

โดยแม้ว่า เงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯที่ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมล้วนออกมาแย่กว่าคาด

อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแย่กว่าคาดดังกล่าว ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ กอปรกับรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ในธีม AI/Semiconductor ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ยิ่งกดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่เป็น Safe Haven ก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน) และกดดันให้ราคาทองคำทยอยย่อตัวลงบ้าง ส่งผลเงินบาททยอยอ่อนค่าลงจากโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ Qualcomm -9.4% ก็ส่งผลให้บรรดาหุ้นธีมดังกล่าวต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ Nvidia -6.7% ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.30% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.37%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -1.23% หลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มการเงินและกลุ่มยานยนต์ ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML -2.4% ตามแรงขายหุ้นธีมดังกล่าวในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด และบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.97% ซึ่งก็ยังใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้ประเมินไว้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับ 4% ได้อย่างชัดเจน จนกว่าตลาดจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ติดต่อกัน มากกว่าคาด ซึ่งล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยติดต่อกันในอีก 5 การประชุม FOMC หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด

โดยมองว่า ยังคงต้องระวังความเสี่ยงที่ตลาดอาจปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดดังกล่าวใหม่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างที่กังวล หรือเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในลักษณะดังกล่าว อนึ่ง บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯที่ระดับต่ำกว่า 4.00% อาจมี Risk-Reward ที่น่าสนใจน้อยลง ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอ “Buy on Dip” ในจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวขึ้น เหนือโซน 4.00%

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแย่กว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อนึ่ง การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็อาจถูกจำกัดโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.5 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค.) จะพอได้แรงหนุนจากจังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแย่กว่าคาด จนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำก็ไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับดังกล่าวได้ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด และการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,490 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯเดือนกรกฎาคม ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มมีโอกาสที่จะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง และโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้านั้น ก็อาจยังเป็นโซนแนวรับในระยะสั้นได้อยู่ ตราบใดที่ บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จนหนุนให้เงินดอลลาร์ยังสามารถแกว่งตัวในกรอบ sideways หรือมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งการประเมินดังกล่าว ก็สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัล ใน Time Frame Daily ที่เงินบาท (USDTHB) อาจเกิดทั้งสัญญาณ RSI Bullish Divergence และมีลักษณะของรูปแบบ Bullish Hammer ทว่า หากจะมั่นใจได้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าจากโซนแนวรับดังกล่าว ก็ควรเห็นการอ่อนค่าต่อเนื่อง เหนือระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนเป็นอย่างน้อย ซึ่งเราประเมินว่า ภาพดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาดชัดเจน จนทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย (ที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 5 ครั้ง)

โดยจากการประเมินความอ่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากข้อมูลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าเงินบาทอาจมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่ ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด และเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 35.45 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่ ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯอาจออกมาแย่กว่าคาด (ให้จุดเริ่มต้นเงินบาทแถว 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว)

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img