“รุ่ง” ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนรอดู ดัชนี ISM ภาคบริการ เผยสถิติ 7 เดือนเงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค
น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าให้กรอบ 35.00-35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดเงินบาทอาจพักฐานหลังจากแข็งค่าอย่างรวดเร็วตามกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯดิ่งลง นักลงทุนรอดู ดัชนี ISM ภาคบริการในสัปดาห์หน้า
สำหรับค่าเงินบาท ซึ่งอ่อนค่ารุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก สามารถลดช่วงลบในไตรมาส 3 ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดรอบล่าสุดเปิดทางสู่การเริ่มวัฎจักรลดดอกเบี้ยเดือนก.ย. โดยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯบ่งชี้ภาวะชะลอตัว ส่งผลให้เฟดประเมินและสื่อสารว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงเดียวต่อการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยอีกต่อไป โดยต้องคำนึงถึงแนวโน้มการจ้างงานควบคู่กันด้วย
สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง ม.ค.-ก.ค. พบว่า สกุลเงินส่วนใหญ่อ่อนค่า นำโดยดอลลาร์-ไต้หวัน 6.47% รองลงมาเป็นวอน-เกาหลีใต้ 5.70% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 4.96% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 4.67% ดอง-เวียดนาม 3.76% บาท-ไทย 3.44% หยวน-จีน 1.54%ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.86% รูปี-อินเดีย 0.65% ยกเว้น ริงกิต-มาเลเซียแข็งค่า 2.31%
อนึ่ง เวลานี้ตลาดคาดไว้แล้วว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ ดังนั้น หากตัวเลขเศรษฐกิจย่ำแย่เกินคาด จะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและกลับเข้าถือครองดอลลาร์บางส่วนบนมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจชะลอตัวมากกว่า soft landing ซึ่งจะกระทบแนวโน้มการเติบโตของโลกได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. นักลงทุนต่างขาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1.18 แสนล้านบาท และขายพันธบัตรสุทธิ 3.2 หมื่นล้านบาท
กระทรวงแรงงานสหรัฐแจ้งว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 179,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 179,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 206,000 ตำแหน่ง
นักลงทุนพากันเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.50% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 67.5% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 22.0% นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 32.5% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 78.0%