วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“ส่งออก”ครึ่งปีหลังหืดจับ สารพัดปัญหารุมเร้าคาดทั้งปีโต 2%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ส่งออก”ครึ่งปีหลังหืดจับ สารพัดปัญหารุมเร้าคาดทั้งปีโต 2%

“ชัยชาญ” ประเมินส่งออกครึ่งปีหลังเผชิญความไม่แน่นอนสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เริ่มเข้มข้นขึ้น เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะขาลง คาดทั้งปีโต 2% มูลค่าทะลุ 10 ล้านล้านบาท

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ส่งออกครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) คาดว่าขยายตัวได้ 1-2% แม้ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนในสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เริ่มเข้มข้นขึ้น เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะขาลง ภาคการผลิตหรือดัชนีPMI ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้ง สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวต่ำกว่า 50 ปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจมีฝนมากทำให้เกิดน้ำท่วมส่งผลต่อปริมาณผลผลิต 

นอกจากนี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่จะมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกันและอาจส่งผลต่อมาตรการทางการค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐฯ ทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งการหยุดการผลิตและกระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย และปัญหาสินค้าล้นตลาดจากประเทศจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยอีกนัยหนึ่ง รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังต้องจับตาค่าวางเรือที่อาจกลับมาสูงขึ้นอีก เพราะขณะนี้การเดินเรือขนส่งสินค้ากว่า 90% ยังคงเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทำให้ต้นทุนสูง ระยะเวลาขนส่งสินค้านานขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันส่งออกไทย แต่ก็หวังว่าจะขยายตัวได้ 1-2 % ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2% มูลค่า 290,700 ล้านดอลลาร์หรือทะลุ 10 ล้านล้านบาท แต่หากไม่เป็นไปตามที่หวัง อย่างน้อยทั้งปีก็จะขยายตัวได้ 1% มูลค่า 287,990 ล้านดอลลาร์

โดยส่งออกครึ่งปี 67 คือตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. มีมูลค่า 145,290 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2% ถือว่าสอบผ่าน จากผลของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ฝ่ามรสุมและอุปสรรคในครึ่งปีแรกไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สำหรับสินค้าที่เป็นดาวเด่นในครึ่งปีหลัง ยังคงเป็น ข้าว ยางพารา ยางล้อรถยนต์ อาหาร ซึ่งสามารถขับเคลื่อนไปได้ดี ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะยานพาหนะและอุปกรณ์ส่วนประกอบ ที่ต้องแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV  เครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.เร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกของไทย เพื่อรองรับการแข่งขันและการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation ให้สำเร็จภายใน 3-5 ปี

2.เร่งส่งเสริมกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ

3.ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเส้นทาง รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม

4.รัฐต้องกำกับดูแลสินค้าการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลายเชนในประเทศ รวมถึงกำกับดูแลสินค้าต้นทุนต่ำที่ทะลักเข้ามาในประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะ SMEs และปัญหาการจ้างงานลดลง

ทั้งนี้ควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตปลอดอากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มานานแล้ว ทำให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศเสียเปรียบทางการแข่งขัน เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนจนกว่าจะขายสินค้าได้ โดยภาครัฐต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องภาษีและมาตรฐานสินค้า ต้องทำระบบนิเวศที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการในประเทศ

5.สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img