วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightกกร.หวังเบิกจ่ายงบประมาณรัฐหมุนเศรษฐกิจไทย คาดจีดีพีโต 2.2-2.7%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

กกร.หวังเบิกจ่ายงบประมาณรัฐหมุนเศรษฐกิจไทย คาดจีดีพีโต 2.2-2.7%

กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หวังเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจพร้อมคงเป้าจีดีพีโต 2.2-2.7%

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือน ก.ค.ของประเทศหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว โดยที่กำลังซื้อในประเทศของจีนยังชะลอตัว ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลงกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า 

อีกทั้งจะส่งผลกระทบกับช่วงครึ่งปีหลังที่เหลืออยู่ จึงถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งขยายตัวได้เพียง 2% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ภาวะตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน ทั้งเฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยรวมทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 โดยประเมินว่า GPD จะยังคงในกรอบ 2.2 – 2.7% ส่วนภาคส่งออกจะขยายตัวในระดับ 0.8 – 1.5% และอัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ 0.5 – 1.0% โดยเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางแม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และที่ประชุม กกร. เห็นว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีเป็นความจำเป็นเร่งด่วนโดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา

นอกจากนี้ กกร. มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12%YoY คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46  ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.66%YoY ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน

โดยปัจจัยเหล่านี้ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs ของไทย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น 

อีกทั้งต้องสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหอการค้าไทย-จีน และ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศและกติกาสากล

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กกร. ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%YoY ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI แต่ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า +86.31%YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น 

ดังนั้น กกร. จึงอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย  Sector การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับ EV และ Transform ไปยังธุรกิจใหม่ การส่งเสริม SMEs การบริหารจัดการ waste ของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Industry 4.0

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการเสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไข คือ กรณีสินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตั้งฐานผลิตในไทย และการเปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์จากจีนที่ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าให้ผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ลดต้นทุนและทำราคาต่ำได้ แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ เห็นได้จากอัตราการปิดโรงงานสูงถึง 667 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น SMEs ขณะที่ยอดเปิดโรงงานใหม่ส่วนใหญ่เป็นทุนต่างชาติ

ขณะเดียวกันกกร. จะเสนอรัฐบาลให้สนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ควรสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเหล่านี้ และภาครัฐควรเพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าไทย จากปัจจุบัน 5% อยากให้เพิ่มเป็น 5 – 20% และควรต้องทำในระยะเวลานานเพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นตัว อย่างน้อยต้อง 2 ปี

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img