วันอังคาร, กันยายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย"เกาะติดเงินเฟ้อ-ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”เกาะติดเงินเฟ้อ-ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” แรงหนุนโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ตลาดจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจจีนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกรกฎาคม

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.22-35.41 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ (ซึ่งหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันก่อนหน้า และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร) หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,420-2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์

โดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ได้ช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงมากกว่าคาด สู่ระดับ 2.33 แสนราย ช่วยให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักและอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดค่าเงิน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจทยอยกลับมาลดสถานะ Short JPY หรือ Unwind JPY-Carry Trade เพิ่มเติมได้ (รอจังหวะเงินเยนผันผวนอ่อนค่าลง)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักกว่าคาด จากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส อาทิ Eli Lilly +9.5% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +2.30%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.08% หลังในช่วงแรกปรับตัวลงหนักตามแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังหุ้นกลุ่มเทคฯ สหรัฐฯ มีแนวโน้มรีบาวด์ขึ้นได้แรง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส

ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ดังจะเห็นได้จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 56% ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 50bps ในการประชุมเดือนกันยายน ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดเคยเชื่อว่าเฟดมีโอกาสเกิน 80% ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 50bps ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้แนวต้าน 4.00% อีกครั้ง สอดคล้องกับที่เราประเมินไว้ และเราคงมุมมองเดิมว่า การทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้

โดยต้องจับตาโซนแนวต้าน 4.00% เพราะหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทรงตัวเหนือระดับดังกล่าวได้ ก็อาจปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 4.15%-4.20% ซึ่งเราคงแนะนำใช้กลยุทธ์ Buy on Dip รอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ ตามเดิม

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.5 จุด)

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนจากการทยอย Unwind JPY-Carry Trade หลังเงินเยนมีจังหวะอ่อนค่าลงเหนือโซน 147 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะ Short JPY หรือ Unwind JPY-Carry Trade หนุนให้เงินเยนสามารถแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก

ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 2,460 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า แรงซื้อราคาทองคำบางส่วน อาจมาจากการเตรียมรับมือความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้ หลังมีรายงานข่าวว่า อิหร่านและพันธมิตร Axis of Resistance อาจเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ในช่วงวันหยุด Tisha B’Av 12-13 สิงหาคมนี้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจจีนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนกรกฎาคม

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม ของเยอรมนี เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ในช่วงวันก่อนหน้า จนมาถึงช่วงเช้าวันนี้ เงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มาก หลังเงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรายังมองว่า Bullish Reversal Pattern หรือสัญญาณการกลับตัวอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ยังไม่ถูกล้างไปโดยสิ้นเชิง ตราบใดที่เงินบาทยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่เรายอมรับว่า หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม เงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์

โดยมองว่าในส่วนปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าของเงินบาท อย่าง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำนั้น ก็เริ่มชะลอลงได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้หากราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ก็อาจต้องเห็นสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงและเสี่ยงบานปลายมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า ต้องจับตาช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคมนี้ ว่าอิหร่านและพันธมิตร Axis of Resistance จะเปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ได้จริงหรือไม่ (หรืออย่างน้อยในช่วงระยะสั้นนี้)

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้นจริง ตลาดการเงินก็อาจเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ส่วนราคาน้ำมันดิบก็เสี่ยงพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าและช่วยลดทอนอานิสงส์ฝั่งแข็งค่าของเงินบาท หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงการเมืองในประเทศรออยู่ โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี ทำให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะนี้ อาจมีความผันผวน และนักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็อาจยังไม่รีบเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าความเสี่ยงการเมืองไทยจะคลี่คลายลง ทำให้เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด

อย่างไรก็ดี เราอยากขอย้ำว่า ควรระวังความผันผวนจากการทยอย Unwind JPY Carry Trade หรือ สถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) เพิ่มเติม หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้ผันผวนอ่อนค่าลงเหนือระดับ 147 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสผันผวนแข็งค่าขึ้น กดดันเงินดอลลาร์และอาจหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img