เอกชนขานรับ “แพทองธาร” เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หวังสานนโยบายให้เกิดความต่อเนื่องดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-ต่างประเทศ พร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ-เดินหน้าเอฟทีเอ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมต่อระหว่างเด็กวัยรุ่นกับผู้สูงอายุ ถือเป็นข้อต่อที่ดี และมีพลังสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง คือ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นพี่เลี้ยงใกล้ชิดที่สุด โดยเชื่อว่านโยบายหลายอย่างยังคงดำเนินการต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ใช่ทุกโครงการ โดยบางโครงการที่อาจจะมีความเสี่ยงหรือล่อแหลมต่อเรื่องของการผิดกฎหมาย หรืออาจเสี่ยงถูกฟ้องร้องนำไปสู่การถูกดำเนินคดีก็อาจจะต้องทบทวน
นอกจากนี้ยอมรับว่า จากคดีทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่ล่าสุดเป็นคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากประสบการณ์ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ดอีตจนล่าสุด คงจะต้องพยายามเลี่ยงประเด็นที่มีความเสี่ยงด้านกฎหมาย โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยถูกฟ้องในแต่ละคดี รวมถึงคดีที่พรรคถูกฟ้องร้องในอดีตได้ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งหลายคน ซึ่งถือเป็นการสุ่มเสี่ยงและหลังจากนี้คงมีการระมัดระวังด้านกฎหมายเป็นพิเศษ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผนวกกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมต่อ ซึ่งเชื่อว่าการแบ่งสัดส่วนรัฐมนตรีน่าจะใกล้เคียงเดิม ส่วนแนวนโยบายคงไม่เปลี่ยนแปลงนักทำให้นโยบายเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและนานาชาติ ดังนั้น สิ่งที่หอการค้าฯ เน้นย้ำ คือ
1.ควรมีการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้ง ครม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และคัดสรรรัฐมนตรีที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของประชาชน
2.เร่งขับเคลื่อนนโยบายโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และเร่งรัดการใช้งบประมาณปี 2567 ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งการเดินหน้าเจรจาขยายตลาดใหม่ (FTA) เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกของไทย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้เร็วถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วน ครม.และรัฐมนตรีจะเป็นคนเดิมหรือคนใหม่หรือสลับขั้วการเมืองมองว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อนโยบายรัฐบาลที่กำลังดำเนินการ และเชื่อว่ายังทำให้เดินหน้าต่อได้ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตและกองทุนวายุภักษ์ 1 ซึ่งหวังว่าจะจะทำต่อเนื่อง โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยควรฟื้นตัวต่อได้ในช่วงไตรมาส 4 หลังจากบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในเริ่มนิ่ง และบรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมาบ้างแล้ว
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ถ้าได้นายกรัฐมนตรีเร็วจะกระทบเศรษฐกิจไม่มาก โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังมาจากระดับบนและระดับกลาง ขณะที่ระดับล่างอ่อนแอ ดังนั้นต้องการนโยบายเร่งด่วนทั้งการแจกเงินระยะสั้นเพื่อช่วยค่าครองชีพ และกระตุ้นกำลังซื้อระดับล่างเร่งด่วน เช่น การทำผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเร่งด่วน เพราะปัจจุบันนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะต่างชาติ ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยที่ปัจจุบันชะลอการลงทุน ดังนั้นหากการตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอนมากขึ้น อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติไปลงทุนประเทศอื่น ซึ่งรัฐบาลต้องแสดงความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการเรียกความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย