วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทแข็งโป๊ก"หลุด 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็งโป๊ก”หลุด 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่า

เงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากถ้อยแถลงของประธานเฟดคาดเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลือของปี

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 33.90-34.27 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) จากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ล่าสุด ที่ไม่เพียงทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ แต่ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสที่จะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อประคองไม่ให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และโดยรวมผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ และอีกราว -125bps ในปีหน้า

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ และราว -125bps ในปีหน้า

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ECB และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ สหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนสิงหาคม ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังล่าสุด ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดมีโอกาสเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และแม้ว่าประธานเฟดจะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยราว -50bps ในแต่ละการประชุมหรือไม่ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสไม่น้อยกว่า 30% ในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ ในการลดดอกเบี้ยถึง -50bps และโดยรวมผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง -100bps ในปีนี้ และราว -125bps ในปีหน้า

อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างชัดเจนอีกครั้ง หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน ทำให้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อาจยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากนัก อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

▪ ยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนสิงหาคม รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองฝรั่งเศส ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยเราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส อาจเป็นปัจจัยที่กดดันภาพตลาดทุนฝรั่งเศส และส่งผลให้เงินยูโร (EUR) เสี่ยงพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้

▪ เอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมของจีน (Industrial Profits) และรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนสิงหาคม (รายงานในช่วงวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม) ซึ่งจะสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริการของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ในเดือนสิงหาคม

▪ ไทย – ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ยอดการส่งออก (Exports) อาจขยายตัวราว +5.9%y/y ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตราว 1.5%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลง หลังระดับเงินบาท ณ ปัจจุบัน ได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าไปมากแล้ว ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทเช่นกัน โดยเงินบาทจะมีโซนแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังแข็งค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ส่วนโซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลง หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้แรงหนุนเพิ่มเติม หากตลาดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้งนี้ ควรจับตาสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส และบรรยากาศในตลาดการเงินหลังรับรู้ผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.40 บาทต่อดอลลาร์ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.05 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img